ในช่วงสถานการณ์โควิด พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดกิจวัตรประจำวันให้เด็กได้ดี ทั้งจากความจำเป็น และจากเดิมที่มีทัศนคติอยู่แล้วว่า เมื่อเด็กมีอายุถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการดูแลเด็ก เมื่อเผชิญความเครียดจากปัญหาการทำมาหากิน ความกังวลต่อการติดเชื้อและปัญหาอื่นๆในช่วงวิกฤติดังกล่าว พ่อแม่และผู้ปกครองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากลำบากมักเลี้ยงดูเด็กไปตามยถากรรม ชีวิตเด็กปฐมวัยในช่วงโควิดที่ผ่านมาจึงรวนเรไปจากภาวะปกติที่ไปโรงเรียน เด็กไม่ได้รับการฝึกวินัยในเรื่องความเป็นอยู่ กินไม่เป็นเวลา เล่นมือถือมาก ไม่ออกกำลังกาย นอนดึกขึ้น ไม่เป็นเวลา และที่สำคัญนอนน้อยลง
ช่วงเวลานอน คือช่วงที่สมองจัดระเบียบข้อมูลและ Refresh ตัวเอง
เด็กเล็กในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยนอนหลับไปกับหน้าจอโทรทัศน์ที่ยังเปิดอยู่ หรือเล่นมือถือจนถึงเวลานอน ความสำคัญของการนอน คือ การที่ร่างกายได้พักผ่อน เกิดการหลั่ง Growth Hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเติบโตในช่วงที่หลับสนิท การนอนแต่หัวค่ำทำให้เด็กได้นอนอย่างเพียงพอ Growth Hormone หลั่งเต็มที่ เด็กจึงเจริญเติบโตได้ดี มีภูมิต้านทานโรค ไม่เป็นหวัดหรือติดเชื้อง่าย
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การนอนเป็นช่วงที่สมองทำงานจัดระเบียบข้อมูลที่ได้รับมาตลอดทั้งวัน ประสบการณ์และการเรียนรู้ใหม่ๆที่ได้มาในเวลาที่ตื่นนอนเป็นความจำระยะสั้น (Short Term Memory) ซึ่งถูกบรรจุอยู่ที่ บริเวณ Hippocampus ในสมองส่วนกลาง เมื่อร่างกายนอนหลับ สมองจะถ่ายโอนข้อมูลที่มีความหมายบางส่วนเข้าไว้ใน Cerebral Cortex เพื่อเก็บเป็นความจำระยะยาว (Long Term Memory) ซึ่งการถ่ายข้อมูลเป็นความทรงจำระยะยาว จะทำได้ดีในช่วงที่เราหลับลึก
นอกจากนั้น ในระหว่างที่นอน สมองยังใช้เป็นช่วงเวลาของการเก็บกวาดทำความสะอาดของเสียที่เกิดจากการทำงานออกไป การนอนที่เพียงพอจึงทำให้สมองแจ่มใส รู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ และจำสิ่งที่เรียนรู้เมื่อวานไปได้ดียิ่งขึ้น ทักษะสมองส่วนหน้า(Executive Functions) ซึ่งทำหน้าที่ในการกำกับอารมณ์ ความคิด การกระทำ ก็จะทำหน้าที่ได้ดีขึ้น เด็กที่คุณภาพการนอนไม่ดี นอนไม่พอ นอนไม่เต็มอิ่มจะหงุดหงิด งอแง อารมณ์ไม่ดี ไม่มีสมาธิ การกำกับตนเองและทักษะทางสังคมทำได้ไม่ดี
เด็กปฐมวัยต้องนอนพอ ไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง
เด็กแต่ละคนอาจมีความต้องการนอนต่างกันบ้าง และในแต่ช่วงวัย เด็กก็มีความต้องการในการนอนต่างกันตามช่วงวัย เด็กยิ่งเล็กมากยิ่งต้องการเวลาในการนอนมาก จะเห็นได้จาก ทารกที่เกิดมานอนเกือบตลอดเวลา พออายุ 4-12 เดือนเด็กทั่วไปในวัยนี้จะนอนหลับประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน เด็กที่อายุ 1-2 ขวบควรได้หลับวันละ 11-14 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กที่อายุราว 3-5 ขวบควรนอน 10-13 ชั่วโมงต่อวัน พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรท่องไว้ในใจว่า เด็กปฐมวัยไม่เกิน 5 ขวบควรนอนให้ได้วันละ 10 ชั่วโมง
เราสังเกตเด็กได้ว่านอนพอหรือไม่ กล่าวคือ เด็กที่นอนพอจะปลุกตื่นขึ้นมาง่าย ไม่ผล็อยนอนไปในตอนกลางวัน และเมื่อถึงเวลานอนจะนอนได้ภายใน 10-30 นาที
เมื่อเด็กโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เด็กจึงจะนอนน้อยลง และนอนดึกขึ้นเองตามธรรมชาติ เราไม่ควรเร่งเด็กเล็กให้นอนดึกตามผู้ใหญ่
ช่วงโควิดเด็กนอนดึกขึ้น ตามพ่อแม่ แก้ที่พ่อแม่ จึงแก้ที่ลูกได้
ปัจจุบันเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ พ่อแม่ต้องกลับมาจัดการเวลานอนของลูกให้มีคุณภาพอย่างจริงจัง เพื่อให้ลูกได้เจริญเติบโตสมวัย แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันไม่เป็นโรคภัยง่าย การที่เด็กนอนดึกไม่ยอมนอน อาจเป็นเพราะทำตัวตามพ่อแม่ การแก้ไขทำได้ไม่ยาก ต้องแก้ที่พ่อแม่ก่อน ลูกจึงจะเข้านอนแต่หัวค่ำได้
สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรก คือกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน จนกลายเป็นกิจวัตรและความเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยที่ดีของลูกไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ จัดบรรยากาศห้องนอนให้สงบ สะอาด ปลอดโปร่งไม่มีของรกรุงรัง ไม่มีโทรทัศน์ในห้องนอน ช่วงที่เอาลูกเข้านอนต้องยอมปิดโทรทัศน์ในบ้าน ไม่ใช้มือถือ แสงสีฟ้าจากมือถือทำให้การหลั่งสารเมลาโทนินในสมองลดลง นอนหลับยากขึ้น ควรปิดไฟให้มืดสนิท อาจใช้เสียงเพลงเบา ๆ กล่อมเป็นจังหวะเพื่อช่วยให้เด็กหลับเร็วขึ้น และสิ่งที่ควรทำก่อนนอน คือการให้เวลาที่พิเศษแก่ลูก อาจจะเป็นการอ่านนิทานก่อนนอน กอดกัน พูดคุยกันให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และหลับไปด้วยความสุข
คุณภาพการนอน เกี่ยวข้องเป็นพลวัตรกับคุณภาพการใช้ชีวิตทั้งวัน รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการนอน ชี้ว่า การใช้ชีวิตในแต่ละวันดี จะส่งผลให้การนอนดีมีคุณภาพ การนอนที่ดีมีคุณภาพ ก็จะส่งผลกลับมา ให้ชีวิตในวันต่อไปดีมีคุณภาพด้วย เด็กจึงควรได้กินอาหารเพียงพอ มีประโยชน์ ได้กินเป็นเวลาและอาหารเย็นไม่ควรเกินหกโมง เด็กได้ออกกำลังกายกลางแจ้งเพียงพอให้ได้เหงื่อและเหนื่อยทำให้หลับง่าย เด็กเล็กควรได้นอนกลางวันในเวลาไม่เกินบ่ายสามโมง ได้อาบน้ำ (ถ้าเป็นน้ำอุ่นยิ่งทำให้สบายตัว) ไม่ควรให้เด็กเอาของเล่นมาเล่นบนที่นอนเพราะจะสนุกจนไม่ยอมนอน
ทำให้ลูกรู้สึกว่า การเข้านอนเป็นช่วงเวลาของความสุข ไม่ลงโทษ ดุ หรือขู่ให้เข้านอน
พ่อแม่ต้องตั้งใจ ตั้งหลัก ปรับตัวให้ได้ ลูกก็จะใช้เวลาไม่นานในการปรับตัวตามพ่อแม่
ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง
อ้างอิง:
1)ความรู้สำหรับประชาชน, จิตเวชเด็ก, การนอนในเด็ก, https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/02212017-1525, สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีค.2566
2)อ.พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล, (2557) การนอนในเด็กสำคัญอย่างไร, ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี, สถาบันราชานุกูล, https://th.rajanukul.go.th/preview-3501.html, สืบค้นเมื่วันที่ 3 มีค.2566