สถานการณ์โควิดทำให้ผู้คนเครียดกังวล ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบในทุกภาคของประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชาชนกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ว่า ความเครียดของประชากรสะท้อนออกมาเป็นความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 66 สอดคล้องกับข้อมูลจากยูนิเซฟ ซึ่งทำการสำรวจครอบครัวในจังหวัดขอนแก่นและพิษณุโลก ซึ่ง 40 % ของพ่อแม่เหล่านี้สะท้อนว่า ตนตบตีลูก
ปรากฎการณ์เหล่านี้ส่งผลเชิงลบต่อสภาพจิตใจของผู้คน ความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงกลไกการทำงานในสมอง และตัวตนของเด็กที่กำลังพัฒนา

การควบคุมอารมณ์และความหุนหันพลันแล่น

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ความผันผวนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราพอจะควบคุมได้คือ การควบคุมตนเอง จากความเครียดที่มากระทบให้เกิดอารมณ์และความหุนหันพลันแล่น เพราะการปล่อยให้สมองส่วนกลางที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ มีกำลังเหนือกว่าทักษะสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ในการคิด อาจนำปัญหาอื่นๆเข้ามาสู่ชีวิตมากขึ้นๆ จนอลวนและยากจะแก้ไข
สมองส่วนหน้า(ที่มนุษย์มีมากที่สุด) จะทำหน้าที่คิดวิเคราะห์ ประมวลข้อมูลและสถานการณ์ต่างๆ  นำไปสู่การแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้  ต้องเริ่มจากเราสามารถรู้เท่าทันได้ว่า อารมณ์และความหุนหันพลันแล่นของเรานั้นเกิดขึ้นจากการทำงานของสมองส่วนกลาง  ที่ตอบโต้สถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า อาจไม่ได้คิดถึงผลหรือความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว การดุด่าหรือใช้ความรุนแรงทางกายที่พ่อแม่ผู้ปกครองระเบิดออกไปในแต่ละครั้งนั้น อาจดูเหมือนยุติสถานการณ์ที่เราไม่พอใจได้  แต่มันจะยุติได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น  ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กที่ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงของพ่อแม่ผู้ปกครอง อาจกลายเป็น “แผลเป็นทางใจ”ที่คอยบั่นทอนพลังของเด็กไปตลอดชีวิต 

เป็นพ่อแม่ต้องมีสติ

เมื่อมีความผันผวนที่ควบคุมไม่ได้เข้ามากระทบใจ กายและความคุ้นชินที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดความเครียดโดยฉับพลัน หรือบางทีสะสมทีละน้อยโดยไม่รู้สึกตัว จนแสดงออกมาเป็นความรุนแรงต่อคนในครอบครัวที่เรารัก โดยเฉพาะกับลูกตัวน้อยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ การฝึกตนเองให้มีสติจึงเป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนสามารถฝึกได้และควรฝึก เพื่อให้เท่าทันอารมณ์ ความคิดของตนเองที่เกิดขึ้น  เช่น
-การจดจ่อกับลมหายใจที่ช้าลง ลึกลง
-การหันเหไปทำกิจกรรมอื่น
-การนับ 1 ไปถึง 100 หรือ การนับเลขถอยหลัง
-การพาตัวเองออกไปจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง
เหล่านี้ เป็นเทคนิคง่ายๆที่พ่อแม่ทุกคนต้องมีเอาไว้เป็น “คาถา” เพื่อเรียกสติให้กลับคืนมาทุกครั้งที่มีอารมณ์ลบเกิดขึ้น

จัดสภาพอารมณ์และจิตใจ

พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีทักษะในการจัดสภาพอารมณ์และจิตใจภายใต้ความกดดันจากสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบ โดยควรกำหนดเป็นกิจวัตรประจำวันที่เป็นบวก ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ ตั้งแต่ ;
-การออกกำลังกายจนเหงื่อออกอย่างสม่ำเสมอให้สารเอ็นโดฟินหลั่ง
-การหาช่วงเวลาในแต่ละวันให้ตนเองและครอบครัวได้ผ่อนคลาย เช่น การออกเดินเร็วๆ ทำสวน ชวนลูกปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลงบ้าง เล่นกับสัตว์เลี้ยง
-การให้เวลากับตนเอง ทำโยคะ นั่งนิ่งปิดเปลือกตา การนั่งสมาธิ การนวดมือด้วยลูกบอล การจิบน้ำชา หรือคุยกับเพื่อน
-สนุกสนานและหัวเราะกับลูกและคู่ชีวิตทุกวัน
-นอนหลับให้เพียงพอ
กิจกรรมในชีวิตประจำวันเหล่านี้มีความสำคัญ ที่ช่วยให้มีพลังความสดชื่นภายใต้สภาวะที่รู้สึกว่าชีวิตถูกกดดันจากทุกทาง

มองโลกทางบวก

ความเครียดเกิดจากทรัพยากรที่เรามีอยู่ไม่พอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ ตั้งแต่มีเวลาไม่พอ มีเงินไม่พอ มีความรู้ความเข้าใจไม่พอ มีความอดทนไม่พอ ฯลฯ การได้ให้เวลาตนเองทบทวนอย่างจริงจัง ดึงตัวเองออกมาจากการจมอยู่ในปัญหา มองกลับเข้าไปใหม่เพื่อหาทางออก จะทำให้เห็นความเป็นจริงมากขึ้น จะทำให้ค้นหาทางออกได้มากขึ้น ว่าจะแก้ไขตรงไหน อย่างไร หรือหากแก้ไขไม่ได้ จะหาทางออกไปจากสถานการณ์ที่กดดันนั้นอย่างไร

มุมมองเชิงบวก เชื่อมั่นในตนเอง ให้กำลังใจตนเอง สนับสนุนตนเองหรือหา “การหนุนช่วย” จากคนรอบข้าง ชุมชนรวมถึงหน่วยงานที่ให้บริการ จะเป็นอีกหนทาง ที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถจัดการความเครียดได้ดีขึ้นเมื่อมีสิ่งที่ยากจะคาดเดาได้ มากระทบ  เพื่อเป็นฐานของการฟื้นฟูครอบครัว ฟื้นฟูลูกซึ่งยังเด็ก คืนความสุขให้กลับเข้ามาในบ้าน ลดความเครียดความรุนแรงในครอบครัว ฟื้นฟูพัฒนาการของลูกที่หายหรือถดถอยไปช่วงโควิด ให้พัฒนาสมวัย เติบโต เติบใหญ่ดังที่หวังและตั้งใจ


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1) กรมสุขภาพจิต, (2564), โควิดทำคนเครียด ปัญหารุนแรงในครอบครัวพุ่ง , https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30860 สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กพ. 2566
2)National Health Service UK, 10 Stress Busters, https://www.nhs.uk/mental-health/self-help/guides-tools-and-activities/tips-to-reduce-stress/ สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กพ.2566
3)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี