“ประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ตั้งแต่วัยเด็ก” (Adverse Childhood Experienvces; ACEs) เป็นประสบการณ์ความทุกข์ระทม ที่เด็ก (วัย 0 – 17 ปี) อาจได้รับจากการถูกกระทำที่ซ้ำซากยาวนาน เช่น ถูก Bully  เผชิญภัยพิบัติ ความยากจนแร้นแค้น การถูกเหยียดทางเชื้อชาติ การสูญเสียพ่อแม่ครอบครัว การเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือถูกทารุณกรรมยาวนาน ซึ่งทางการแพทย์ชี้ว่า จะเป็นบาดแผลทางใจที่เรื้อรัง และส่งผลกระทบในระยะยาวทั้งสุขภาพทางกาย ใจและสติปัญญา รวมไปถึงความสามารถในการทำมาหากิน ในวัยผู้ใหญ่ด้วย

ประสบการณ์ ACEs นี้จะเป็นสิ่งทำนายรูปแบบอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กเมื่อโตขึ้น  

เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด องค์การยูนิเซฟได้ชี้ว่า ประสบการณ์ในช่วงโควิด ก็นับเป็นประสบการณ์เชิงลบ ที่อาจส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรังยาวนาน งานวิจัยล่าสุดพบว่า เด็กอายุระหว่างสี่ถึงห้าปีได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด ในช่วงปีแรกของการกลับเข้ามาที่โรงเรียน พบพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การตีและกัดเพื่อน มีปัญหาการสื่อสาร เครียด ไม่มีสมาธิ และแสดงความวิตกกังวล หงุดหงิดงอแงมากผิดปกติ

นักวิชาการชี้ว่า สถานการณ์ที่เด็กต้องเผชิญทุกข์ซ้ำซากเหล่านี้ ทำให้อมิกดาลาซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการระวังภัยในสมองส่วนกลาง ถูกกระตุ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สมองมีสภาพเหมือนอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลา ในขณะเดียวกับที่สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) มีขนาดเล็กลง

สังเกตและเข้าใจพฤติกรรมเด็ก

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกหลานของเรามีภาวะเครียดเรื้อรังหรือไม่ การสังเกตอย่างเอาใจใส่ใกล้ชิด จะทำให้เห็นว่าเด็กมีการถดถอยจากเดิมไหม เคยทำได้ กลับทำไม่ได้ เช่น กลับมาฉี่รดที่นอน เคยกินข้าวเองได้กลับไม่ยอมกินต้องให้แม่ป้อน เคยเล่นคนเดียวได้ กลับงอแงติดแม่ตลอดเวลา เคยเล่นกับเพื่อนได้ดี กลับทะเลาะ ตี หรือกัดเพื่อน เคยร่าเริงแจ่มใส กลับซึม ไม่พูดจาหรือไม่เล่นอย่างที่ควรเป็น

การสังเกตและเฉลียวใจ แสดงความสนใจเด็กเป็นบันไดขั้นแรกที่ช่วยโอบอุ้ม “ตัวตน” ของเด็กให้รู้ว่า มีคนที่รักเขาอยู่  

เมื่อเห็นภาวะที่เด็กถดถอย เราจะไม่ถามเด็กว่า “ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะลูก” เพราะเด็กเล็กก็อาจจะไม่รู้ว่าทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น

การพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมา คือ “การตั้งใจฟัง” ความรู้สึกที่แท้จริงของเด็ก ว่าลูกรู้สึกอย่างไรลูกจึงงอแง ร้องไห้ แต่เด็กเล็กอาจไม่มีคลังคำในสมองพอที่จะบอกได้ว่า ตนรู้สึกอย่างไร ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองค่อยๆถามจากการสังเกตว่า หนูงอแง เพราะหนูหิวหรือเปล่า? หรือหนูง่วง หรือเพราะหนูกลัวแม่หายไป หรือ…. หนูตีเพื่อนเพราะหงุดหงิด?… ฯลฯ การถามเพื่อเข้าใจเด็กและชวนให้เด็กเข้าใจตนเอง เป็นการปลอบโยนเด็ก ให้เด็กรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกว่าอ้อมอกของพ่อแม่ตรงนี้ปลอดภัย และมีความมั่นคงทางใจ

แม้หากเราไม่เข้าใจว่าเด็กเป็นอะไร การปลอบโยนด้วยการกอดก็เป็นสุดยอดปรารถนาของเด็กตัวน้อย

ปลอบก่อน แล้วค่อยสอนทีหลัง

“ปลอบก่อน สอนทีหลัง” เป็นหลักการดูแลเด็กที่อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ของสมองที่ว่า สมองส่วนอารมณ์ จะมาก่อนเหตุผล มนุษย์ทุกคนต้องการความรู้สึกปลอดภัย สบายใจ มั่นคงทางใจก่อน จึงจะสามารถใช้สมองส่วนเหตุผล กำกับความคิด อารมณ์และพฤติกรรมของตนได้ แม้แต่เราผู้ใหญ่หากกำลังมีอารมณ์ เราก็ยังขาดเหตุผล เด็กเล็กที่มีอารมณ์เชิงลบอยู่ ยิ่งกำกับตนเองด้วยเหตุผลยากยิ่งกว่าผู้ใหญ่

แต่หากได้รับการฝึกฝนโอบอุ้มด้วย “วินัยเชิงบวก” เด็กๆ ก็สามารถลดความเครียด และปรับพฤติกรรมตนเองได้

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยวินัยเชิงบวก จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำอธิบายว่า วินัยเชิงบวก คือ การฝึกฝนให้โอกาสเด็กฟื้นฟูพัฒนาการตามวัยได้ ผ่านการพัฒนาทักษะในการกำกับตนเอง (EF) ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเด็ก (Trust) ว่า เด็กทุกคนมีพฤติกรรมดีขึ้นได้ ถ้ามีโอกาสเรียนรู้ ให้เวลา (Time) ในการปรับตัว ที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน และผ่านการสอน (Teach) ให้เด็กรู้ว่า เขาจะมีวิธีการจัดการตนเองได้อย่างไร ในสภาวะที่เขาพร้อมและมีพลังใจ เป็นการกำกับหรือวินัยที่เกิดขึ้นจากภายในตนเอง ไม่ต้องรอให้คนหรือสภาพแวดล้อมภายนอกมากำหนดบังคับ

ชมสุดซอย

อีกหนึ่งแนวทางของวินัยเชิงบวกในการส่งเสริมลูกให้เรียนรู้ที่จะกำกับตนเอง คือการ “ชมสุดซอย”เมื่อลูกทำสิ่งที่ดีแม้จะเล็กน้อยในสายตาของผู้ใหญ่เรา นั่นคือการชมให้ไปจนถึงพฤติกรรมและคุณลักษณะ ตัวอย่างเช่น;
เมื่อลูกเล่นแล้วเก็บของเล่น การชมสุดซอย คือการบอกลูกว่า
แม่ดีใจจัง” (ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้น)
“หนูเล่นแล้วรู้จักเก็บใส่กล่องเองจนเรียบร้อย” (ระบุพฤติกรรมที่ดีของลูก)
“อย่างนี้ เขาเรียกว่าลูกของแม่เป็นคนมีระเบียบ” (บอกคุณค่าและคุณลักษณะที่เราต้องการปลูกฝังจากสิ่งที่ลูกทำ)
เด็กๆ จะค่อยๆ เรียนรู้วันละเล็กวันละน้อยบนฐานของความภูมิใจในตนเองว่า พฤติกรรมที่ควรทำ ที่แม่ (พ่อและผู้ใหญ่คนอื่นๆ) ชอบคืออะไร และการทำเช่นนั้นทำให้เขาเป็นคนแบบไหน

สมองของมนุษย์มีลักษณะพิเศษคือ ฟื้นคืนตัวได้เสมอ โดยเฉพาะสมองเด็กเล็กที่กำลังเติบโต การฟื้นตัวจากความเสียหายทำได้ดีกว่าวัยอื่น เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่สมองมีการเชื่อมต่อมากและรวดเร็วที่สุดของชีวิต การ “ปลอบก่อน สอนทีหลัง” และ“ชมสุดซอย” เป็นการใช้วินัยเชิงบวกที่ทำได้ทุกวัน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กกำกับและฝึกฝนตนเองให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม และมีพัฒนาการสมวัยในเร็ววันหลังภาวะโควิดที่เรื้อรังยาวนาน

วินัยเชิงบวก มีเทคนิคอีกมากมายเพื่อช่วยให้ลูกพัฒนาพฤติกรรมเชิงบวกขึ้นในตนเอง จนกลายเป็นคุณลักษณะของการมีวินัยในตนเอง โดยมุ่งเน้นการรักษาและเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน และฝึกฝนให้เด็กพัฒนาตนบนการใช้สมองคิดด้วยตนเอง ไม่ใช่การบังคับหรือลงโทษ


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1)ปนัดดา ธนเศรษฐกร, (2564), วินัยเชิงบวก ทักษะสร้างความสุขและภูมิคุ้มกันทางความคิดเด็กยุคใหม่, https://op.mahidol.ac.th/ga/posttoday-11/ สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี