“แม่”ที่มีอยู่จริง
ในทางพัฒนาการ ช่วงอายุตั้งแต่เกิดถึงหนึ่งขวบ ทารกต้องการแม่ หรือใครคนหนึ่งที่เลี้ยงดูจริงจัง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจคน ไว้วางใจโลก หรือที่เรียกว่า Trust ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นแรกทางจิตวิทยาของชีวิต เพื่อที่จะเติบโต อย่างมั่นใจ ไม่ใช่ถูกเลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ที่มีคนดูแลหลายคน แต่ไม่มีใครดูแลจริงจังเสมือน “แม่ที่มีอยู่จริง”สักคน เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจึงมักไม่มีความมั่นใจว่าโลกรอบตัวปลอดภัย ร้องไห้หิวหรือยืนแล้วล้ม ร้องไห้ ก็ไม่มีใครสนใจ เด็กเหล่านี้มักจะไม่กล้าเรียนรู้ มีพัฒนาการล่าช้า
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังได้อธิบายว่า เด็กจะเรียนรู้ความสัมพันธ์จากประสบการณ์ทุกวันที่ได้รับ และสร้าง “แม่ที่มีอยู่จริง” ของตนในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เด็กเล็กที่เรียนรู้ว่า “แม่มีอยู่จริง” จะมีความมั่นใจ แม่สามารถปลีกตัวไปทำอะไรลับตาได้ เพราะจากประสบการณ์เด็กรู้ว่า แม่จะกลับมาเมื่อตนต้องการ ไม่หายไปไหน เด็กที่แม่ไม่มีอยู่จริงจะมีสภาพจิตใจที่หวาดหวั่น ไม่มั่นคง อาจแสดงออกด้วยการงอแง ติดแม่แบบแกะไม่ออก หวาดกลัวเมื่อไม่มีแม่อยู่ด้วย หรือเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคย
การมี “แม่ที่มีอยู่จริง” เป็นต้นทางของความผูกพัน เป็นสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ในใจเสมอ แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันในเวลาเดียวกัน เป็นความเชื่อใจในความรัก ทำให้เมื่อโตขึ้น เวลาทำอะไร ใจจะคิดถึงแม่ พ่อและคนที่รัก ทำให้มีความมั่นใจ ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับความลำบาก หรือเผชิญกับประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ฐานของความรักความผูกพันที่ได้รับจากการที่ “แม่มีอยู่จริง” ช่วยให้เด็กฟื้นตัวได้เร็วจากสถานการณ์คุกคามอย่างสถานการณ์โควิด
ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กสม่ำเสมอ
เนื่องจากพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน ต่างมีชีวิตอยู่ในสภาพสังคมที่ดิ้นรนแข่งขัน ทำงานหาเลี้ยงชีพเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ไม่มีระบบสวัสดิการทางสังคมรองรับ แถมยังมีเทคโนโลยีมือถือเข้ามาเบียดเวลาชีวิต ทำให้ไม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด เด็กไทยจำนวนมากเติบโตมาจากการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายาย
เด็กเล็กยังพึ่งตนเองไม่ได้ ต้องการทั้งการดูแลเอาใจใส่ ทั้งอาหารการกินให้ครบสมบูรณ์เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ทั้งยังต้องการการดูแลเอาใจใส่ ได้รับความอบอุ่นทางใจ ได้รับความรักที่สัมผัสได้ทุกวัน เป็นประสบการณ์ที่สร้างความผูกพันที่ดีระหว่างเด็กกับคนเลี้ยงดูซึ่งแม้ไม่ใช่พ่อแม่ แต่เป็นคนที่ดูแลหลักในชีวิต เช่น ปู่ย่าตายาย ให้เด็กมีความไว้เนื้อเชื่อใจ ว่าโลกและคนที่ตนได้เกิดมาอยู่ด้วยนั้นปลอดภัย เป็นคนที่ไว้ใจได้ รักได้อย่างจริงใจ เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าในตนเองหรือ Self – Esteem
เด็กที่มีสายใจผูกพันกับผู้ปกครอง จะเชื่อมสายใยผูกพันไปสู่สมาชิกอื่นในครอบครัวและคนอื่นในสังคม มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำอะไรไม่เห็นแต่ประโยชน์ของตนเท่านั้น และยังมีจิตอาสาทำเพื่อผู้อื่นในสังคม ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญที่นำสังคมไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในอนาคต
การเลี้ยงดูแบบตอบสนอง – Responsive Relationship
เด็กเรียนรู้ทุกอย่างผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 “แม่ที่มีอยู่จริง” จึงหมายถึงแม่ (หรือใครคนหนึ่งที่ทำหน้าที่แม่อย่างจริงจัง) ที่อยู่ตรงนั้น ป้อนนมเมื่อเขาร้องไห้หิว คนที่อยู่ตรงนั้นพร้อมปลอบโยน เห่กล่อมเมื่อรู้สึกกลัว ว้าเหว่ เมื่อหนาวทำให้รู้สึกอบอุ่น เวลาเจ็บหาหยูกยารักษา เป็นคนที่เล่นด้วย เล่าหรืออ่านนิทานให้ฟัง ค่อย ๆ สอนจากการกระทำและการปฏิบัติต่อ ให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร มีความรู้สึกมั่นคงจากการทำกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ ถึงเวลากินได้กิน ถึงเวลากลับบ้าน แม่กลับบ้าน ถึงเวลาอ่านหนังสือและเข้านอน ได้อ่านหนังสือและเข้านอนด้วยกันตรงเวลาทุกคืน
หลังโควิด เมื่อสังเกตได้ว่าเด็กมีความกังวล ไม่เป็นปกติ งอแง หรือขาดความมั่นใจ การสร้าง “แม่ที่มีอยู่จริง” เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้เด็กฟื้นฟูพัฒนาการได้ดีขึ้น เร็วขึ้น การ “มีแม่อยู่จริง” ทำได้ง่ายๆ ด้วยการตั้งหลัก ให้ความสำคัญกับการใช้เวลาอยู่กับลูกให้ได้มากที่สุด และเป็นเวลามีคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกยังเล็ก (ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่กี่ปี) ดูแลลูกในเรื่องพื้นฐานของชีวิตอย่างง่ายๆ แต่ครบถ้วน คือ ดูแลเรื่องกินนอน ให้ลูกได้กินอิ่ม นอนเต็มที่ ได้เล่น ได้หัวเราะ ได้กอด ได้ทำอะไรด้วยกัน ทั้งทางกายและทางใจ ใส่ใจตอบสนองความสนใจของเด็กในยามที่เขาต้องการ
ให้เด็กได้ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง
การเป็น “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” ทำให้ลูกเชื่อใจพ่อแม่ ทำให้เด็กเห็นถึงคุณค่าของตนเอง การที่ “พ่อแม่มีอยู่จริง” ทำให้เด็กเชื่อใจโลก เพราะพ่อแม่เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่ลูกเป็นคนแรก การเชื่อใจพ่อแม่และโลกทำให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย กล้าที่จะเดินออกไปสำรวจโลก จากก้าวเท้าเล็กๆไปทั่วห้อง ไปทั่วบ้าน ด้วยความอยากรู้อยากเห็น หยิบจับทำโน่นนี่ตามกล้ามเนื้อที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ สู่การออกไปยังโลกที่กว้างขึ้น คือ โรงเรียน รอบบ้าน และชุมชน ชีวิตของเด็กเล็กที่เติบใหญ่ขึ้นมา จนสามารถห่างจากอกแม่ไปได้ไกลขึ้นตามลำดับ
ในระหว่างที่ยังต้องพึ่งพิงพ่อแม่ เด็กกำลังเรียนรู้ที่จะค่อยๆ พึ่งพิงตนเอง เพื่อไปใช้ชีวิตเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง และเป็นที่พึ่งพิงของคนรุ่นต่อไปอีก การค่อยๆให้โอกาสลูกได้ทำในสิ่งที่อยากทำมากที่สุด ได้ตักข้าวใส่ปากเอง ใส่รองเท้าเอง ได้ช่วยแม่หยิบของ ได้เก็บของเอง ทุกอย่างที่ลูกอยากทำ ทำแล้วไม่อันตราย ทำแล้วคนอื่นไม่บาดเจ็บ ข้าวของไม่เสียหาย ทำแล้วภูมิใจว่าตนเองทำได้ จะทำให้เด็ก “เชื่อใจ” เชื่อมั่นตนเอง จากประสบการณ์ตรง ว่าฉันสามารถทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวฉันเอง ซึ่งเราเรียกว่าเด็กแบบนี้ว่า เป็นคนมี Sefl – Esteem
คนที่เชื่อมั่น เชื่อมือตนเอง หรือคนที่มี Self – Esteem จะกล้าคิด รู้จักประเมินสถานการณ์ จะมีอารมณ์มั่นคง มุ่งมั่น หาทางทำทุกอย่างจนสำเร็จให้ได้ และจะเป็นคนที่มีความพลิกแพลง ควบคุม กำกับตนเองได้มากกว่าคนที่ไม่มีโอกาสได้ฝึกฝน ดังนั้น ไม่ว่าความผันผวนจะเกิดขึ้นกี่ครั้ง โควิดจะกลับมากี่หน เด็กที่เชื่อใจพ่อแม่ เชื่อใจโลก และมี Self – Esteem จะก้าวออกไปเผชิญโลก เผชิญสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่า จะผ่านไปได้โดยอาศัยความพยายามของตนเป็นหลักเสมอ
นักวิชาการปฐมวัยชี้ว่า แม้สถานการณ์โควิดจะส่งผลกระทบร้าวลึกต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะในด้านอารมณ์จิตใจดังกล่าวมาข้างต้น แต่ข้อดีของช่วงวัยนี้ก็คือ สามารถฟื้นฟูปรับตัวได้ง่าย ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูเข้าใจและตระหนักถึงผลระยะยาว ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู สร้างภาวะ”แม่ที่มีอยู่จริง” ใช้ความรักเยียวยา สร้างสัมพันธภาพที่พร้อมตอบสนองเด็กอย่างเหมาะสม ใช้กระบวนการง่ายๆ ให้เวลา ให้ความใกล้ชิด และทำกิจกรรมง่ายอย่างเช่น อ่านนิทานกับลูกก่อนนอนทุกคืนอย่างสม่ำเสมอ สภาวะพัฒนาการล่าช้าหลังโควิดก็จะคลี่คลายไปได้ในเวลาไม่นาน
ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง
อ้างอิง:
1)ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2565), เลี้ยงลูกในโลกใหม่, เอกสารปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา