หลังโควิด คุณครูปฐมวัยพากันบ่นว่า เด็กถูกล็อกดาวน์ ไม่ได้มาโรงเรียนเกือบ 2 ปี อายุ 5 ขวบแต่พัฒนาการเหมือนถอยหลังไปเป็นเด็ก 3 ขวบ เคยช่วยตัวเองบางเรื่องได้ กลับมาหลังโควิดก็ทำไม่ได้ พัฒนาการถดถอย ภาษายังไม่คล่องแคล่วอย่างที่เด็กวัย 5 ขวบควรจะพูดได้ กำกับควบคุมตัวเองไม่ได้ตามวัย

          ถ้ากำกับตนเองไม่ได้ จะส่งผลต่อไปในวันข้างหน้าอย่างไร

          นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังชี้ไว้ว่า สายสัมพันธ์อันดีที่เกิดจาก “แม่ที่มีอยู่จริง” กับลูกน้อยในขวบปีแรก นำไปสู่การเกิดขึ้นของตัวตน (Self) ในช่วง 2-3 ขวบ และเป็นฐานของการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self- Esteem) แล้วจึงจะนำไปสู่ความสามารถในการกำกับควบคุมตนเอง หรือ Self- Control ในช่วงต่อไป

กระบวนการสร้างตัวตน

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Self – Esteem หรือการเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หากเกิดขึ้นมาจากการที่เด็กได้รับการดูแลและการตอบสนองเชิงบวกจากแม่และคนเลี้ยงดูอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกที่เกิดมา ทำให้เด็กที่ยังช่วยตนเองไม่ได้สามารถพึ่งพิงผู้อื่นได้อย่างไม่มีข้อสงสัย รู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ ผูกพัน เชื่อใจในรักของ “แม่ที่มีอยู่จริง” (หรือคนเลี้ยงดูหลัก)
เด็กสร้างตัวตน (Self) ของตนขึ้นมา จากทารกที่ไม่รู้อะไรเลย เริ่มเรียนรู้ว่า ตนเองนั้นเป็นอีกคนหนึ่งต่างหากจากแม่ ในอายุราว 6 เดือน คุณภาพของประสบการณ์ที่เด็กได้รับ โดยเฉพาะเด็กที่ “แม่มีอยู่จริง” คอยดูแลตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม ถึงเวลารู้สึกหิวแม่มีนมให้ดูด ขับถ่ายคอยดูแลเอาใจใส่ ริ้นไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม โอบกอดให้ความรักความอบอุ่น ทุกคืนก่อนนอนเล่านิทานอ่านหนังสือให้ฟัง จะค่อยๆ รับรู้ เรียนรู้ว่าตนเป็นที่รัก เด็กที่มีคนรักและเอาใจใส่ จะรู้สึกต่อตนเองตามประสบการณ์ที่ได้รับ พ่อแม่ยิ่งยอมรับ ความรู้สึก ความคิด ความต้องการที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะยิ่งทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองยิ่งขึ้น นำไปสู่ความรู้สึกรักตนเอง

เด็กที่เห็นคุณค่าตนเองจะมี Growth Mindset

คนที่รักตนเอง เห็นคุณค่าตนเองจะมี Growth Mindset มองโลกเชิงบวก เชื่อว่าสิ่งต่างๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ติดอยู่กับที่ ความรู้สึกพื้นฐานที่รู้สึกปลอดภัย ทำให้กล้าเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้ง่ายกว่า นำไปสู่การมีจิตใจที่เปิดกว้าง แสวงหาทางออกใหม่ๆ ยืดหยุ่นกว่า สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดีกว่า ยอมรับความจริง มีความเครียดน้อยกว่า อึดมากกว่า ล้มแล้วลุกได้เร็วกว่า จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างความหวัง ตั้งเป้าหมายเพื่อก้าวไปให้ถึง และไม่ทำร้ายตนเองหรือพาตนไปสู่หนทางหายนะ แม้พลัดหลงทางไปบ้างก็จะกลับมาได้เสมอ

รักตัวเอง จะกำกับตัวเองให้อยู่ในลู่ในทาง

คนที่รู้จักรักตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) จะมั่นใจในตนเอง เรียนรู้ว่า ตนมีสิทธิเลือกสิ่งที่ดีให้กับตนเองได้ จึงกล้าเลือก กล้าตัดสินใจ และตั้งเป้าหมายเรื่องต่างๆที่ต้องการเดินไปให้ถึง ด้วยตนเอง เด็กที่ถูกเลี้ยงมาให้มีความรู้สึกปลอดภัย ได้รับการตอบสนองเชิงบวกแม้ว่าตนเองจะแตกต่างจากผู้อื่น จะไม่รู้สึกกลัว สามารถทำความเข้าใจ และยอมรับได้ไม่ว่า ตนเองจะมีความสามารถแค่ไหนอย่างไร และมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่

การที่เด็กสามารถเป็น “ตนเอง” ได้ การได้เลือก ได้ตัดสินใจ ได้รับความรักจากคนรอบข้าง ทำให้เกิดความพอใจในตนเอง รักตนเอง ความรู้สึกเชิงบวกต่อตนเองนี้จะเป็นพลังให้เด็กเติบโตขึ้นมากับความสามารถในการกำกับตนเองให้อยู่ในลู่ในทาง ไม่ยอมให้ใครมาชักจูงไปทางใดได้ง่าย ๆ จะทำสิ่งใดก็ต่อเมื่อตนเองได้คิดเอง เห็นด้วย สามารถรับฟังคำแนะนำของคนอื่น แต่จะตัดสินใจด้วยตนเอง ยอมรับความผิดพลาดได้ ไม่กลัวเสียหน้าว่าไม่รู้หรือล้มเหลว ไม่อายที่จะไม่รู้ เมื่อเจอความยากลำบากก็บากบั่นอดทนเพราะเชื่อในตนเอง เมื่อผิดพลาดก็จะพยายามแก้ไข ให้กำลังใจตนเอง หาหนทางสร้างชีวิตที่สมดุล เป็นสุข และสำเร็จเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตนเองต้องการ           คนที่ไม่รักตัวเอง มักมีประสบการณ์ในวัยเยาว์ที่ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ หรือได้รับประสบการณ์เชิงลบ การถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้าย ถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ว่าทางกายหรือทางใจ ทำให้เกิดมุมมองต่อตนเอง (Self) ว่า เป็นคนที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีใครรัก เสียงของตนไม่มีใครได้ยิน ต้องยอมและทำตามสิ่งที่ถูกบังคับให้ทำเสมอ เด็กที่เติบโตขึ้นมาแบบนี้ จะตัดสินใจไม่เป็น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่มีเป้าหมายของตนเองที่จะเดินไปให้ถึง ไม่มีแรงขับที่จะกำกับตนเอง อีกทั้งไม่มีความสามารถกำกับตนเองได้ ได้แต่ทำตามเพื่อให้ผู้อื่นพอใจ หรือถูกบังคับ และมักปล่อยชีวิตให้เรื่อยเปื่อย ยอมจำนน ไปตามยถากรรม และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ จึงถูกชักจูงสู่อบายมุข และสิ่งเสพติดต่าง ๆ ได้ง่าย


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1)ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2565), เลี้ยงลูกในโลกใหม่, เอกสารปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี