ช่วงโควิดระบาด ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยโดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่ร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คน ที่เข้ารับการประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิตในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564
แม้ว่าโควิดได้ซาลงจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นอาจจะยังก่อปัญหาอีกยาวนาน เพราะโลกรอบตัวยังมีความปั่นป่วนไม่แน่นอนอีกมากมายที่บีบรัดเราทุกคนอยู่ตลอดเวลา

เราจะเลี้ยงลูกตั้งแต่เล็กอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นเยาวชนหรือผู้ใหญ่ที่ซึมเศร้า

ช่วยเหลือตัวเอง ฝึกพัฒนาการและความอดทน

ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ถาโถมไม่หยุดหย่อนนั้น คนขี้วิตกกังวลจะอยู่ได้ยาก ดังนั้น เด็กๆ ต้องเข้มแข็งทางจิตใจ มีอะไรก็เข้าใจและอดทนได้
ทักษะพื้นฐานที่สุดที่จะทำให้คนได้ฝึกความเข้มแข็งนั้น ทำได้ง่ายๆ ด้วยการให้เด็กๆ ได้ฝึกทำอะไรด้วยตนเอง “ช่วยเหลือตนเอง” ในกิจวัตรประจำวัน (Routine) ตั้งแต่ยังเล็ก ค่อยๆเรียนรู้ว่าตนต้องทำอะไร เมื่อไหร่ ตื่นเช้ามาเก็บหมอนเข้าที่ อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้า ถุงเท้ารองเท้า ถึงเวลากินข้าวตักข้าวกินเองได้ และเอาจานไปเก็บให้เรียบร้อย
บ้านที่ฝึกให้เด็กทำอะไรด้วยตนเองตามวัย และตามความชอบของเด็ก นอกจากร่างกายของเด็กจะแข็งแรง จิตใจของเด็กจะเข้มแข็งด้วย เพราะการลงมือลงแรง ทั้งการเล่น การออกกำลังกายและการช่วยงานบ้าน จะฝึกฝนให้กระดูก กล้ามเนื้อแข็งแรง และจิตใจเข้มแข็ง
จะให้ลูกช่วยเหลือตนเองเป็น พ่อแม่เพียงต้องใจเย็น ยั้งใจ อดทนรอคอย ให้โอกาสให้ลูกทำเอง แม้จะช้า ไม่เรียบร้อย เลอะเทอะ ทำผิด ก็ไม่ต้องถือเป็นสาระ เพียงระลึกไว้เสมอว่า เด็กเรียนรู้ได้เร็วและกำลังเติบโต เขาต้องการโอกาสและเวลาช่วงหนึ่งเท่านั้น แม้บางคนอาจจะนานหน่อย พ่อแม่ต้องเตือนตนเองให้รอคอยได้ ไม่เร่ง แล้วจะพบว่า เด็กทำอะไรด้วยตนเองได้มากขึ้นทุกวัน และในที่สุด ลูกจะภูมิใจที่ได้เห็นว่า “ตนเอง” ทำได้

พึ่งตนเอง คือ ไม่กลัวความยากลำบาก

ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่า เราอาจจะรับมือกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้ ซึ่งจะบั่นทอนความสามารถในการแก้ปัญหาของเรา ในขณะที่ คนที่พึ่งตนเองได้ มักจะเชื่อมั่นตนเองว่าจะพอรับมือสถานการณ์ได้ ความวิตกกังวลก็มักจะน้อยกว่า
เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองอนุญาตให้เด็กได้พึ่งตนเอง ตัวอย่างเช่น 2 ขวบตักข้าวกินเอง 3-4 ขวบสวมถุงเท้ารองเท้า และเสื้อผ้าเอง 5 ขวบจัดกระเป๋านักเรียนเอง 6 ขวบทอดไข่กินเอง ฯลฯ ในตอนแรกๆเด็กทุกคนย่อมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยาก กว่าจะตักข้าวให้ตรงปาก กว่าจะกลัดกระดุมได้แต่ละเม็ด กว่าจะสวมเสื้อผ้าถูกแขนถูกขา ฯลฯ แต่โดยธรรมชาติเด็กทุกคนอยากลองอยากรับความท้าทายว่าตนจะทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้พวกเขาจะเกิดความพอใจในตนเอง บอกตนเองว่า “ฉันทำได้”
และยิ่งถ้าผู้ใหญ่เข้าใจ เสริมแรงด้วยคำชมแบบสุดซอย “ลูกแม่เก่งจัง วันนี้สวมถุงเท้าเองได้แล้ว แบบนี้โตขึ้นช่วยตัวเองเก่งมาก…” วันต่อมาเขาจะทำต่อ เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กเช่นกันที่ว่า “ถ้าฉันทำได้ ฉันจะไปต่อ” เขาจะบอกตนเองได้ว่า ถ้าพยายามไม่มีอะไรที่เขาจะทำไม่ได้
แต่บางครั้ง สิ่งที่เขาทำอาจยากจนไม่สำเร็จ ผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่ให้กำลังใจเสริมแรงว่า “วันนี้ยังไม่ได้ แต่พรุ่งนี้หนูโตขึ้นอีกหน่อย กินข้าวเพิ่มอีกนิด และลองทำอีก หนูก็จะทำได้แน่นอน”
เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ จะไม่กลัวที่จะเผชิญความท้าทายใหม่ๆ พวกเขาจะไม่กลัวความยากลำบาก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา บอกว่า “ถ้าพยายาม ฉันก็ทำได้”นั่นเอง
ถ้าได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก ใช้ทักษะสมอง ได้เลือกได้ตัดสินใจเอง และพ่อแม่สนับสนุน เด็กคนไหนๆ ก็จะอยากทำ อยากลอง และมักไม่กลัวความลำบาก กลับรู้สึกสนุก อยากประลอง เพื่อเอาชนะอุปสรรคให้ได้

คนรุ่นใหม่จะเผชิญสถานการณ์ที่หนักขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ ต้องเก่งกว่า และแกร่งกว่า

ทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทำให้โลกอยู่ยากขึ้น เราถูกกดดันจากปัจจัยมากมายรอบตัว ไม่ว่าจากภาวะเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นตลอดเวลา มีเรื่องราวและข้อมูลมากมายจนเรารู้สึกสับสน มีโรคระบาดใหม่ๆที่ไม่เคยเจอมาก่อนและส่งผลกระทบชีวิตคนทั้งโลกหนักหนา สถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เด็กที่เติบโตขึ้นมา นับวันจะเผชิญกับสถานการณ์ที่พ่อแม่ไม่เคยมีประสบการณ์ และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าโลกจะก้าวข้ามวิกฤตที่เกิดขึ้นรอบด้านได้อย่างไร

          ศูนย์วิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ให้คำแนะนำว่า ลูกหลานของเราจะต้องเก่งและแกร่งมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่

          ลูกจะเก่งกว่า แกร่งกว่าเราได้แน่นอน เพียงแค่เราถอยลงมาเป็น “นั่งร้าน” ที่ปลอดภัย ให้นายช่างตัวน้อย เติบโตตามวัย ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง คิดด้วยตนเอง ตัดสินใจด้วยตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง ฝึกรับผิดชอบตนเองให้มากขึ้น พวกเขาก็จะโตขึ้นเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถปรับตัว ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างแน่นอน


ภาวนา อร่ามฤทธิ์ เรียบเรียง

อ้างอิง ;
1)ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน, (2565), ยุคโควิดโรคซึมเศร้าใกล้ตัวกว่าที่คิด, กรมสุขภาพจิต, https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31448 สืบค้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ภาวนา อร่ามฤทธิ์