ฟื้นฟูเด็กปฐมวัยหลังโควิดได้ ด้วยการส่งเสริม Self – Esteem การเห็นคุณค่าในตนเอง

ในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตามสถิติและข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้น เด็กเล็กมีการติดเชื้อและเจ็บป่วยน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่มาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ส่งผลกระทบให้สถานพัฒนาเด็กต้องปิด เด็กไม่สามารถไปโรงเรียน ต้องอยู่กับพ่อแม่ เด็กปฐมวัยที่มีอยู่ราวสองล้านคนทั่วประเทศ ซึ่ง 60 % อยู่ในครอบครัวยากจนอยู่แล้ว จึงยิ่งได้รับผลกระทบเชิงลบ จากการที่ผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดทักษะการเลี้ยงดูลูกตามพัฒนาการของวัย เมื่อไม่ได้ไปทำงานตามปกติ หรือต้องตกงาน สถานะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ลง ยิ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ การเลี้ยงดู การดูแลเอาใจใส่ที่พึงจะมีต่อลูก การผลักภาระใช้มือถือเลี้ยงลูก ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงกับเด็ก

หลังโควิดเบาบางลง คุณครูจำนวนมากพบปรากฏการณ์ที่เด็กกลับมาเรียน แต่งอแง ก้าวร้าวและขาดวินัย กำกับตนเองไม่ได้ ฯลฯ มากขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เนื่องจากการศึกษาปฐมวัยที่เป็นอยู่ เน้นเนื้อหาวิชาการ ครูจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้ จึงไม่ให้ความสำคัญเรื่องทักษะอารมณ์ แปลสัญญาณที่เด็กแสดงออกมาไม่ได้  โรงเรียนไม่มีระบบประเมินอารมณ์เด็ก พ่อแม่ยิ่งขาดความรู้ ไม่มีทักษะ อีกทั้งพ่อแม่เองก็ไม่รู้วิธีจัดการอารมณ์ของตนเอง ความเครียดของเด็กที่สั่งสมมาในช่วงสถานการณ์โควิด จึงไม่ได้รับการใส่ใจ แก้ไข ศาสตราจารย์คลินิก พญ.วินัดดา   ปิยะศิลป์ แห่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แสดงความกังวลว่า ความเครียดที่สั่งสมยาวนานถึง 2 ปีนั้นทำให้สมองเด็กถูกทำร้าย สะท้อนออกมาเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งมักจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs (Non – Communicable Diseases) ในวัยผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น

มนุษย์ทุกคนต้องมี Self คือ รู้จักตัวตนของตนเอง เพื่อเป็นฐานของอารมณ์จิตใจที่เข้มแข็ง

รากฐานสำคัญที่สุดที่เด็กคนหนึ่งจะมีกำลังฝ่าฟันสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ฟื้นตัวได้เร็ว หรือมี Resilience (ล้มแล้วลุกได้) และมีพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจที่แข็งแรง คือ การมี Self หรือการรู้จักตัวตนของตนเอง พัฒนาการด้าน “ตัวตน” (Self) เป็นเรื่องที่เด็กเรียนรู้จากความสัมพันธ์ที่พ่อแม่หรือคนดูแลหลักมอบให้ ตั้งแต่ลืมตาออกมาดูโลก เมื่อหิวร้องไห้มีใครคนหนึ่งเอานมใส่ปาก ขับถ่ายมีคนจัดการทำความสะอาดให้แล้วรู้สึกสบาย เมื่อร้องไห้เจ็บปวดมีคนอุ้มกอด ปลอบประโลม จนค่อยๆ จำหน้าแม่ (หรือคนเลี้ยง) ได้ ถึงช่วงอายุ 6-9 เดือนจึงเริ่มเรียนรู้ว่าตนเองนั้น กับแม่เป็นคนละคนกัน
“แม่ที่มีอยู่จริง” คือแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก เป็นคนคนเดิมที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานทุกอย่างของลูก อย่างต่อเนื่อง จนสร้างความรู้สึกปลอดภัย ความไว้เนื้อเชื่อใจแม่และไว้ใจโลก เป็นฐานที่มั่น พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องวางความผูกพันทางใจเป็นรากฐานของชีวิตลูก ทำให้เด็กน้อยที่ไม่รู้ความ เรียนรู้ว่า “ตน” เป็นใครคนหนึ่ง ที่มีคนอีกคนหนึ่งรัก “ตน” อย่างไม่มีเงื่อนไข

พัฒนาจาก Self ไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem)

การมี “ตัวตน” (Self) ของเด็ก เป็นฐานพัฒนาการของการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self – Esteem) หลังจากเริ่มเรียนรู้ว่าตนเองกับแม่นั้นเป็นคนละคนกัน เด็กพัฒนาไปสู่การแยกได้ว่า ตนนั้นต่างจากคนอื่นอย่างไร เด็กในช่วงอายุประมาณ 2 ขวบ เริ่มเดินได้ รู้ภาษา จึงกลัวการพลัดพราก ต่อมาในช่วง 3- 5 ปี เด็กเริ่มเรียนรู้และหัดควบคุมตนเอง (Self – Controls) จนเมื่ออายุราว 5 ขวบเด็กเข้าสู่ขั้นตระหนัก (Self- Awareness) รับรู้ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ อารมณ์และความคิดของตน ตลอดจนผลที่ตนจะได้รับจากสิ่งที่เกิดขึ้น และพัฒนาต่อไปจนมีภาพรวมที่มองตนเอง ว่าเป็นคนแบบไหน มีความสามารถอะไร คุณค่าของตนเองอยู่ตรงไหน (Self – Concept)

กระบวนการพัฒนาตัวตนไปจนถึงขั้น เห็นคุณค่าของตนเอง (Self – Esteem) นั้น ก่อเกิดตามลำดับพัฒนาการ จากทั้งการที่พ่อแม่แสดงออกผ่านการกระทำ เอาใจใส่ ดูแลลูก สร้างความผูกพันไว้ใจ แสดงให้ลูกรู้ว่ารักและเห็นว่าเขามีความสำคัญแค่ไหน ในขณะเดียวกันที่ Self – Esteem จะค่อยๆ เกิดขึ้นมาจากความมั่นใจในตนเอง เมื่อตนสามารถทำสิ่งใดๆ ได้ดีขึ้นๆ เกิดความเชื่อมั่นและเชื่อมือตนขึ้นมาตามลำดับ จากการได้รับโอกาสจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ให้ทำอะไรด้วยตนเอง และประสบความสำเร็จ ทีละเล็กทีละน้อยทุกวัน และเมื่อทำอะไรยังไม่ได้ หรือล้มเหลว ก็ได้โอกาสเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นเสมอ จะทำให้เด็กมีความมั่นใจในการทำอะไรได้ด้วยตนเอง เชื่อว่าเมื่อตนเรียนรู้ ลงมือทำ ตนจะทำให้สำเร็จ

หลังโควิดที่เด็กปฐมวัยจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเครียดสูง จากพัฒนาการที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ทางออกที่สำคัญได้แก่

  • การลดความเครียดด้วยกิจกรรมที่สร้างความสุข เช่น การได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย การเล่นอิสระกับเพื่อนๆ การอ่านนิทาน ฯลฯ
  • การส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้และทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นด้วยตนเอง จากการดูแลตนเอง ไปจนถึงดูแลผู้อื่น เช่น ทำงานบ้านง่ายๆ ตามวัย
  • การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีประสบการณ์ตามแบบที่เขาเลือกเอง พ่อแม่ไม่บังคับ ความรู้สึกพอใจในตนเองก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จะเป็นวิธีลดความเครียดได้อีกทางหนึ่งด้วย

เด็กที่เห็นคุณค่าในตนเอง จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆง่าย

เด็ก ๆ ที่เห็นคุณค่าในตนเองสูง (High Self – Esteem) เชื่อใจคนอื่น และมั่นใจตนเอง จะมีความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สามารถยอมรับสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองรู้สึกผิดหวังและท้อแท้ใจด้วยความหวัง รู้ว่าตนเองมีคนที่รัก แม้พ่ายแพ้หมดรูปยังมีหลังพิง มีการประเมินตนเองในทางบวก มีความเชื่อมั่นในความสามารถจนมั่นใจได้ว่าตนเองสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จตามที่ต้องการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านวินัยเชิงบวก แห่งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้แนวทางว่า ไม่ว่าจะมีโควิดกี่ครั้ง ขอเพียงเด็กปฐมวัยได้มีความรู้สึกว่าตนนั้น “มีตัวตน เป็นคนสำคัญ และมีความสามารถ” เด็กก็จะมีฐานรากทางจิตใจที่เข้มแข็ง เห็นคุณค่าในตนเอง พร้อมที่จะเผชิญสถานการณ์ใด ๆ ได้เสมอ
แม้สถานการณ์โควิดครั้งนี้จะเขย่าให้โลกหวั่นไหวรุนแรง แต่โลก VUCA ข้างหน้าก็ยังอาจผันผวนแปรเปลี่ยนยากที่จะคาดเดา อาจซับซ้อนมากกว่าสถานการณ์โควิดครั้งนี้ เด็กที่เห็นคุณค่าตนเอง มี Self – Esteem ได้ทำอะไรสำเร็จด้วยความสามารถของตนตามวัย ก็จะฟื้นตัวจากความเครียดได้เร็ว ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไร เขาก็ปรับตัวอยู่ได้อย่างแน่นอน


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง:
1) ปรารถนา หาญเมธี (2565), Self- Esteem, https://www.rlg-ef.com/self-esteem/ สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2565
2) Psychology CU, (2016) การเห็นคุณค่าในตนเอง -Self-Esteem, สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2565 https://www.facebook.com/PsychologyChula/posts/948298225284591:0
3) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลัง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี

Avatar