โลกรอบตัวซับซ้อนและรุนแรง ลูกจะเอาตัวรอดได้อย่างไร

ในช่วงกว่า 10 ปีนี้ เด็กไทยรุ่นใหม่ (Alpha Generation) ที่เกิดมา ส่วนใหญ่เป็นลูกคนเดียว ซึ่งถูกเลี้ยงดูแบบประคบประหงม แม้เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน (สนง.สถิติแห่งชาติ ระบุว่าพ่อแม่ของเด็กวัยนี้ 42.3% มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากจนและยากจนมาก) ก็มักไม่ยอมให้ลูกได้เจอความลำบาก ประเคนให้ทุกอย่างที่อยากได้ เพื่อให้เท่าเทียมคนอื่น ทำให้ทุกอย่าง ไม่ให้เด็กช่วยเหลือตนเองหรือช่วยทำงานบ้าน เด็กจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่ถูกฝากเลี้ยงไว้กับปู่ย่าตายาย ก็มักจะถูกชดเชยความใกล้ชิดของพ่อแม่ด้วยการตามใจ ปรนเปรอด้วยข้าวของวัตถุ และเด็กจำนวนมากขาดประสบการณ์การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Human Relationship)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีปัญหาที่ซับซ้อนและรุนแรงปะทุขึ้นมาเป็นระยะและหนักหน่วง ผู้คนทั้งหลายต่างรู้สึกร่วมกันว่า ชีวิตและโลกนั้นเปราะบางเหลือเกิน ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่าสิ่งที่จะเผชิญหน้านั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เราจะถูกกระทบกระแทกจนแตกสลายเมื่อไม่รู้ ก่อเกิดเป็นความทุกข์ความกังวลใจกันทั่วไป
ในโลกแบบนี้ เด็กๆ เหล่านี้ของเราจะเติบโตขึ้นมา เอาตัวให้รอดอย่างไร

เราไม่ได้อยู่ปกป้องลูกไปตลอดชีวิต เขาต้องปกป้องตนเองเป็น

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราเรียนรู้จากสถานการณ์โควิด คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ และไม่มีใครสามารถปกป้องลูกได้ทุกเรื่องไปตลอดชีวิต
ใช่ พ่อแม่ไม่อาจอยู่ปกป้องลูกได้ตลอดไป ไม่ว่าโลกข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่พ่อแม่ต้องตระหนักเป็นเป้าหมายไว้ก็คือ เราต้องเลี้ยงลูกให้พร้อมที่จะยืนได้ด้วยตนเอง ปกป้องตัวเองได้ และอาจเข้มแข็งพอที่จะปกป้องคนอื่นๆที่อยู่รอบข้างได้ด้วย
แม้เด็กมีปัญหามากขึ้นในช่วงโควิด ที่ขาดโอกาสได้รับการพัฒนายาวนานกว่า 2 ปี หรือคิดเป็นเวลาถึง 1 ใน 3 ของช่วงชีวิตปฐมวัย แต่ครอบครัวที่มีความพร้อมและโรงเรียนที่มีการดูแลเด็กอย่างดี ก็สามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยปรับตัว กลับมามีพัฒนาการสมวัย เข้มแข็งได้ เพราะสมองของเด็กมีความสามารถในการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่เกิน 3 เดือน เราจะพบว่าเด็กสามารถปรับตัวจากผลกระทบระยะสั้นได้ทั้งหมด แต่หากปล่อยให้เด็กทำอะไรไม่เป็น รวมทั้งครูหรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดไม่ได้สังเกตเห็นว่า เด็กยังคงรู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว เศร้า ผลกระทบจะยังคงอยู่กับเด็กอีกยาวนาน
การช่วยให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้ เป็นหนึ่งวิธีที่สำคัญยิ่งในการฟฟื้นฟูให้เด็กกลับมามีพัฒนาการที่สมวัย

เลิกเป็นพ่อแม่รังแกลูก โดย….

ส่งเสริมให้ลูก “เก่ง แกร่ง กล้า กู๊ด” ด้วยตนเอง
“เก่ง” คือมีความสามารถในตนเอง คิดเป็น ลงมือทำเป็น พึ่งตนเองได้ จัดการชีวิตประจำวันของตัวเองได้ มีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ตามวัย
“แกร่ง” คือ ความอึด ไม่ท้อแท้ง่าย ไม่ล้มง่าย เจอปัญหาหรือความยากลำบากใดๆก็มีความพยายามมุมานะที่จะฝ่าฟัน หรือเรียกว่า เป็นคนล้มแล้วลุกได้ เจออุปสรรคก็ไม่กลัว กล้าสู้ปัญหา
“กล้า” แสดงออกด้วยการกล้าคิดกล้าทำ กล้าลองผิดลองถูก กล้าทำในสิ่งที่รู้ว่าควรทำ
“กู๊ด” คือการปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเอื้อเฟื้อเห็นอกเห็นใจและแบ่งปัน เป็นต้น
คุณสมบัติ 4 ด้านนี้ค่อยสะสมขึ้นในตัวของลูกได้ตั้งแต่ปฐมวัย จากการเลี้ยงดูแลอย่างไม่ปกป้องจนเกินไป ไม่ประคบประหงมเป็นลูกแหง่ตลอดเวลา หากแต่ปล่อยให้เขาได้คิดด้วยตนเอง เลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง และได้พึ่งตนเองในการทำสิ่งต่างๆ เพราะยิ่งคิดยิ่งทำ ยิ่งช่วยเหลือตนเองบ่อยๆ ซ้ำๆ ในกิจวัตรประจำวัน เขาก็จะรู้สึกกับตนเองได้ว่า “ฉันทำได้” “ฉันมีตัวตน” “ฉันเป็นคนสำคัญ” “ฉันมีความสามารถ”
และเมื่อช่วยเหลือตนเองได้ แล้วได้ฝึกช่วยเหลือผู้อื่น เด็กก็จะเรียนรู้ว่า ”ฉันก็ดีเหมือนกัน”

การช่วยเหลือตนเองตามวัย …แล้วชม

เด็กเล็กๆก็ช่วยตัวเองได้ ตั้งแต่ 2-3 ขวบก็ฝึกตักอาหารกินเอง ยกน้ำจากแก้วดื่มเอง 3 ขวบแล้วฝึกให้สอดขาเข้าไปในกางเกงเองได้ สอดแขนเข้าไปในแขนเสื้อเองได้ เริ่มฝึกติดกระดุมเอง สวมถุงเท้ารองเท้าเอง เล่นของเล่นแล้วเก็บเอง จูงมือกับพ่อแม่เดินเข้าโรงเรียนได้ไม่ต้องอุ้ม พอ 4 ขวบแบกกระเป๋าเข้าโรงเรียนเอง เก็บจานอาหารเอง หรือฝึกล้างจานเอง เป็นต้น
และเมื่อโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ส่งเสริมให้ช่วยเหลือตนเองเพิ่มขึ้น ไม่ต้องคอยร้องหาหรือพึ่งพิงคนอื่นตลอดเวลา
เด็กทุกคนอยากเรียนรู้ ทุกการทำเองคือการทดลองความสามารถของตนเอง เมื่อเขาทำได้ จะมีกำลังใจที่จะก้าวหน้าไปต่อ
ทุกครั้งที่เด็กได้ช่วยเหลือตนเอง เขาจะรู้สึกดีกับตนเอง นี่คือการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem)
แต่ที่ดียิ่งไปกว่านั้นอีก คือ เมื่อเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และได้รับคำชมจากพ่อแม่ผู้ปกครอง “หนูเก่งจัง เล่นแล้วเก็บของเล่นเข้ากล่องเองได้เรียบร้อย ลูกพ่อเป็นคนที่ช่วยตัวเองเก่งจริงๆ” เขาก็จะยิ่งอยากทำอะไรๆด้วยตนเองมากขึ้น ไม่ต้องให้พ่อแม่ทำให้ จนโตไปเป็นคนที่ทำอะไรไม่เป็น

การช่วยเหลือตนเอง กับ สัมพันธภาพทางบวก

ศาสตราจารย์ คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ จิตแพทย์ผู้มีชื่อเสียง จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยชี้ว่า อารมณ์และจิตใจเป็นกุญแจสำคัญนำพาเด็กไปสู่การเรียนรู้ หากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ผู้ใหญ่กับเด็กเป็นไปในทางที่ดี จะส่งผลบวกต่อการเรียนรู้ของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กอยากช่วยเหลือตนเองมากขึ้น กล้าทำเรื่องยากๆขณะเดียวกัน การทำสิ่งใดๆได้ด้วยตนเอง ก็จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก สร้างความทรงจำที่ดีร่วมกันให้กับลูก จะช่วยฟื้นฟูใจลูกยามที่อารมณ์ไม่ดี พลาดพลั้ง ห่อเหี่ยว สิ้นหวังให้ฟื้นตัวขึ้นมาแข็งแกร่งได้เร็ว
การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ทำให้เจอประสบการณ์ทั้งที่สำเร็จและได้เรียนรู้จากความล้มเหลว การสร้างโอกาสให้ลูกได้ฝึกฝน เจอความยาก เจอความลำบาก ได้รับผิดชอบงานตามวัย จะพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา รวมทั้งการอยู่ร่วมกันและทำงานกับผู้อื่น โดยคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาขอความช่วยเหลือพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา ลูกอาจจะผิดบ้างพลาดบ้าง ให้ลูกได้เรียนรู้จากการกระทำของตน โดยให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายอยู่เคียงข้าง เป็นแหล่งพักพิงทางใจให้เสมอ ไม่ซ้ำเติม
พ่อแม่ที่เรียนรู้ มีเป้าหมายชัดเจนและลงทุนความพยายาม ทำความเข้าใจตนเอง กำกับตนเอง สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูก เปิดพื้นที่ให้ลูกได้เรียนรู้ได้ลงมือทำ ไม่ปกป้องลูกจนเกินเหตุ ลูกจะมีภาวะอารมณ์ที่เข้มแข็ง คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้เป็น ปกป้องตนเองเป็น ควบคุมตนเองได้ เป็นที่พึ่งของตนเองได้ และเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง


ภาวนา อร่ามฤทธิ์         เรียบเรียง

อ้างอิง;
1) Tracy Truatner,(2017), Overprotective parenting style, Michigan State University Extension, https://www.canr.msu.edu/news/overprotective_parenting_style, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565
1) อัญชลี จุมพฏจามีกร, คุณเป็นพ่อแม่ประเภทใด, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/06072014-2130 สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566
3) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ภาวนา อร่ามฤทธิ์