ตั้งแต่สถานการณ์โควิดเริ่มต้น ครอบครัวเผชิญความผันผวนและได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน นอกจากความกังวล ณ สถานการณ์ในช่วงนั้นแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากเริ่มคิดไปข้างหน้าว่า ครอบครัวจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนอย่างไร ในโลกที่ยากลำบากขึ้นแบบนี้
หนึ่งในความรู้สำคัญและทักษะ ที่ควรเป็นเรื่องสามัญประจำบ้านในการเลี้ยงดูลูก ที่พ่อแม่ควรรู้คือ การฝึก “ทักษะสมองส่วนหน้า EF หรือ Executive Functions” เพื่อให้เด็กๆ มีทักษะในการคิด ควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม แบบคนที่คิดเป็น ทำเป็น กำกับตนเองได้ (Self-Regulation) แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้เป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมีความสุขเป็น เดินหน้าชีวิตต่อไปได้
เพราะไม่ว่าสถานการณ์ที่จะเข้ามาในชีวิตเด็กๆ จะเป็นอย่างไรในอนาคต ไม่ว่าจะพลิกผวนอีกกี่ครั้ง หากทักษะสมองเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะเกิดเป็นโครงสร้างเส้นใยประสาท ที่จะค่อยๆแข็งแรงขึ้น ยิ่งฝึกฝน ทักษะสมองเหล่านี้ก็ยิ่งฝังลึก จนกลายเป็นบุคลิกภาพของคนที่ล้มแล้วลุกได้เมื่อเติบโตขึ้น

เราสามารถให้เด็กฝึกฝนกำกับตนเองได้ตามวัยตั้งแต่อายุยังน้อย ฝึกต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัยในการดำรงชีวิต

ทักษะพื้นฐาน 3 เรื่องใหญ่ที่ช่วยให้เด็กสามารถกำกับตนเอง (Self-Regulation) ได้ดี คือ

          1. ทักษะยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) ชะลอความต้องการ (Delay Gratification) อดทนต่อสิ่งยั่วยวนตรงหน้า เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
          2. ทักษะยึดหยุ่นความคิด (Shift) ปรับความคิด ปรับมุมมอง ปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และ…
          3. ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)

ฝึกการยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอยได้

ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจน ในเด็กวัยตั้งแต่ 3 ขวบที่เริ่มรู้ภาษา เรียนรู้กฎ กติกาได้ เริ่มกำกับ ควบคุมความต้องการของตนเองได้ ยั้งใจไม่ไขว้เขวไปกับสิ่งล่อใจที่อยู่ตรงหน้า ชะลอความอยาก เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในระยะที่ยาวกว่า ดีกว่าได้ หากเด็กไม่ได้รับการฝึกฝน สิ่งที่จะพบเห็นคือ พฤติกรรม “เบรกแตก”     จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ เดี๋ยวนี้ อาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น 

การยับยั้งชั่งใจสามารถฝึกฝนได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน และทำได้ไม่ยาก เริ่มได้จากฝึกให้เด็กเรียนรู้ที่จะ “รอ” เป็น ฝึกให้ทำทีละอย่าง เมื่อ “ทำสิ่งนี้เสร็จแล้ว” จึงได้ทำสิ่งต่อไป ไม่ทำตามอำเภอใจ ผู้ใหญ่ไม่ตามใจมีกติกาหรือข้อตกลงที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งเด็กจะค่อยๆ ทำได้มากขึ้นตามพัฒนาการของวัย 

เมื่อเด็ก ๆ ยั้งใจได้ อดทนรอคอยเป็น คำชมและกำลังใจของผู้ใหญ่จะทำให้พฤติกรรมยับยั้งใจของเขายิ่งดีขึ้น

ฝึกการยืดหยุ่น ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ การยืดหยุ่นความคิด ก็เหมือนการเปลี่ยนเกียร์รถ เป็นความสามารถที่ทำให้เราเปลี่ยนความต้องการเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จัดลำดับความสำคัญใหม่ เปลี่ยนแผนเมื่อถึงคราวจำเป็น ไปจนถึงเปลี่ยนมุมมอง เด็กที่มีความยืดหยุ่นทางความคิดน้อย จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ใหม่ลำบากกว่าคนอื่น กินยาก อยู่ยาก ยึดติด เมื่อผิดหวังจะเสียใจนาน

การพัฒนาทักษะยืดหยุ่นความคิด สำหรับเด็ก คือการได้โอกาสในการลงมือทำผ่านการเล่น เล่นกับเพื่อนทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน จะช่วยพัฒนาความยืดหยุ่นได้ดี เพราะในการเล่นด้วยกันกับเพื่อน ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราต้องการฝ่ายเดียว ต้องคะเนความคิดของเพื่อน ต้องปรับเปลี่ยนวิธีเล่น และปรับความคิดความรู้สึกของตนเองตลอดเวลา จึงจะเล่นกันได้สนุก

ฝึกเล่นกับเพื่อนบ่อยๆ จะเป็นคนยืดหยุ่นง่ายขึ้น ไม่ยิดติดหรือเรื่องมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครเล่นด้วย 

ฝึกการควบคุมอารมณ์

คนที่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ มักจะมีปัญหาพฤติกรรม ก้าวร้าว งอแง หรือไม่ก็ขี้วิตกกังวล โตขึ้นไปมีโอกาสที่จะมีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีปัญหาพฤติกรรมต่างๆ หรือไม่สามารถยั้งความอยากในการเสพติดสิ่งต่างๆ

พ่อแม่ผู้ปกครองและครูช่วยพัฒนาการควบคุมอารมณ์ของเด็กได้ ด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวกกับเด็ก ให้เด็กรับรู้ “ตัวตน” ของตนเอง รู้สึกดีและเห็นคุณค่าในตนเอง รวมทั้งฝึกให้เขาเรียนรู้ที่จะใส่ใจตนเองว่า กำลังรู้สึกอย่างไร โกรธ น้อยใจ ดีใจ ตื่นเต้น หรือหงุดหงิด ฯลฯ และบอกเขาว่า ไม่ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร           ก็ยอมรับได้ แต่การแสดงออกมาต่างหากที่เขาต้องใส่ใจและดูแลให้ดี ให้เขาได้ฝึกทักษะกำกับตนเอง ว่าเวลาเล่น เรียน หรืออยู่กับคนอื่น ควรดูแลความรู้สึกตนเองอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น

เด็กที่มีความสุขจากการที่พ่อแม่ ผู้ใหญ่รักและเอาใจใส่ เมื่อเผชิญปัญหาหรือพบวิกฤติจะฟื้นตัวเร็วกว่าเด็กที่ขาดความรัก ควรใช้ความรัก ความเมตตาและความรู้ สร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ เผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น ฝึกฝนการยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอย และควบคุมอารมณ์ ยั้งตนได้ ยืดหยุ่นเป็น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ก็จะหล่อหลอมนิสัยให้ลูกหลานของเรา “เข้มแข็ง” อยู่ง่ายได้ในทุกสถานการณ์

ไม่ว่าโลกจะเกิดโควิด หรือเกิดความผลิกผันกี่ครั้งก็ตาม คนที่เข้มแข็งจะผ่านพ้นและแก้ไขความยากลำบากได้ง่ายกว่าคนที่อ่อนแอเสมอ


ปรารถนา หาญเมธี เรียบเรียง

อ้างอิง

1)Mark T. Greenberg, 2006, Promoting Resilience in Children and Youth: Preventive Interventions and Their Interface with Neuroscience, Annals of the New York Academy of Sciences, https://www.academia.edu/28690834/ สืบค้นเมื่อ June 21, 2018
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี