งานสำรวจครู / ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยจำนวน 1,163 คน โดย ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด -19 ถึงสถานการณ์ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในเด็กอายุ 3-5 ปี พบว่า มีปัญหาเกิดขึ้นหลายด้าน เช่น ด้านสติปัญญา มีความถดถอยในการฟัง จับใจความ การฟังคำสั่ง ที่วิกฤตที่สุดคือ สมาธิจดจ่อและการคิดแยกแยะลดลง ด้านร่างกายและสุขภาวะก็พบว่าเด็กส่วนหนึ่งมีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กกับสายตา และเด็กจำนวนมากใช้สายตากับหน้าจอมากเกินไป ในด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พบว่าด้านที่มีปัญหามากในเด็ก 3- 5 ปีคือความสามารถในการอดทนรอคอย ความรับผิดชอบทำงานที่ได้รับมอบหมายจนเสร็จ
ปัญหาทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดมาจากการที่ทักษะสมองส่วนหน้า EF อ่อนแอ ไม่ได้รับการฝึกฝนเพียงพอในช่วงที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน
ช่วยงานบ้านสร้างความรับผิดชอบ
การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF เพื่อสร้างคุณลักษณะพึงประสงค์ จะพัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงวัยอนุบาลและประถมต้น หากละเลยปล่อยไปถึงประถมปลาย การพัฒนาจะยากขึ้น และยากยิ่งขึ้นเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังชี้ว่า เมื่ออายุ 2 ขวบเด็กสามารถช่วยทำงานบ้านได้แล้ว งานบ้านเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ทักษะสมองส่วนหน้า EF ได้ฝึกฝน พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียเงินส่งลูกเข้าคอร์สฝึกสมอง แต่ให้มอบหมายให้ลูกปฐมวัยบริหารจัดการงานบ้านตามที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ เช่น ให้ช่วยจัดโต๊ะอาหาร ช่วยเอาขยะไปทิ้งหน้าบ้าน ช่วยตามเสื้อผ้าที่ซักแล้ว เป็นต้น เด็กที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานบ้านจะฝึกพัฒนาความรับผิดชอบทีละเล็กละน้อย การจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จต้องใช้ความอดทน ต้องควบคุมตนเองให้จดจ่อ ตั้งใจทำงาน ต้องคิดริเริ่มและวางแผนงาน ต้องใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จนสำเร็จตามเป้าหมาย งานบ้านทุกชนิดฝึกให้เด็กเกิดคุณลักษณะเป็นคนมีความรับผิดชอบและเก่งแก้ปัญหา
งานบ้านฝึกความมีน้ำใจ
ในการอยู่ร่วมกันในบ้าน การทำงานบ้านคือ การเข้ามาแบ่งเบาภาระการงานของส่วนรวม ร่วมมือช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อทำให้ความเป็นอยู่ในบ้านดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย การทำงานบ้านเป็นการสร้างการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่า ในการอยู่ร่วมกัน ทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันตามกำลังความสามารถ งานบ้านไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องรับใช้คนอื่น หรือมีใครคนใดคนหนึ่งที่คนอื่นต้องคอยรับใช้ ช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว
การทำงานบ้านตั้งแต่ยังเล็กตามกำลังจนเสร็จในแต่ละวัน เหมือนการใส่เงินในออมสินทีละน้อย ทำให้เด็กรู้ว่าตนมีความสามารถ และเป็นคนมีน้ำใจ ไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นคนในบ้านต้องการความช่วยเหลือ เมื่อโตขึ้นจะนำไปสู่ความมีจิตอาสา งานจิตอาสาเป็นฐานสำคัญในการสร้าง Self และพัฒนาสมองส่วนหน้าที่สำคัญในช่วงวัยรุ่นด้วย
อาจารย์ราศี ทองสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสามเสน เคยชี้ว่า จากการสังเกตเด็กเป็นเวลายาวนาน ท่านพบว่า เด็กที่ช่วยงานบ้านจะเป็นคนมีน้ำใจ และมักประสบความสำเร็จในการงานเมื่อทำงานร่วมกับคนอื่น
งานบ้านที่เด็กปฐมวัยทำได้
งานบ้านฝึกสมองได้ดีกว่าการบ้านในสมุด เมื่อเด็กโตพอที่จะใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กได้พอสมควร พ่อแม่สามารถจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้ลูกได้ช่วยงานบ้านทีละเล็กละน้อย เด็กเล็กสามารถฟังคำสั่งเข้าใจ งานบ้านที่ช่วยพ่อแม่เริ่มได้ตั้งแต่การแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในการดูแลตนเอง เช่น
-ตื่นแล้วช่วยพ่อแม่เก็บหมอน พับผ้าห่ม
-ถอดเสื้อแล้วเอาไปเก็บในตะกร้า
-เล่นแล้วเก็บของเล่นให้เข้าที่
-ช่วยส่งผ้าให้ผู้ใหญ่ซัก ช่วยหยิบเสื้อให้แม่/พ่อขึ้นตากราว เก็บผ้าที่แห้งแล้ว
-กินแล้วเอาจานไปล้าง เช็ดโต๊ะ กรอกน้ำ
-เปิดน้ำช่วยล้างผักให้ตอนแม่ทำครัว ช่วยแม่เด็ดผัก
-ช่วยถือของ
-ช่วยเก็บเศษขยะหรือใบไม้รอบบ้าน
-ให้อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
จะเห็นว่าเด็กสามารถทำอะไรได้มากมายตามวัย โดยเริ่มจากการที่ผู้ใหญ่มอบหมายให้เป็นผู้ช่วยตามกำลังหน้าที่ของผู้ใหญ่คือ ค่อยๆ สอน จับมือทำ อยู่เคียงข้าง ชื่นชมและใจเย็น ต้องไม่คาดหวังว่างานต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก แต่เน้นที่ให้มีใจอยากทำ ค่อยๆ ชม ค่อยๆ ฝึก ต่อไปเขาก็จะทำได้เรียบร้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ
งานบ้านสร้าง Self
การทำงานบ้านในเด็กเล็กเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ สำหรับเด็กเป็นกิจกรรมการเล่นอย่างหนึ่งที่น่าตื่นเต้น ดีใจ ว่าตนทำได้เหมือนผู้ใหญ่แล้ว สำหรับเด็กชั้นประถมงานบ้านที่ต้องทำประจำอาจจะนำไปสู่ความน่าเบื่อ เด็กอยากเล่นกับเพื่อนมากกว่า แต่ต้องอดทนทำให้เสร็จตามที่รับมอบหมายมา ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร แห่งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายอย่างน่าสนใจว่า คำว่า “อด” หมายความว่าไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ “ทน” หมายความว่าได้ในสิ่งที่ไม่อยากได้ แต่ไม่ว่า “อด” หรือ “ทน” ก็คือกระบวนการฝึกทักษะสมอง ในด้านการยับยั้งไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ทำให้เด็กเรียนรู้ว่า เมื่อฝ่าฟันความลำบาก อดทน ตนก็สามารถทำได้สำเร็จ ยิ่งเห็นประโยชน์และได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้น คนในบ้านและพ่อแม่เห็นคุณค่า เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตนเอง (Self – Esteem) มีความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่ และมีความเป็นตัวของตัวเอง
พ่อแม่ที่ฝึกให้ลูกช่วยงานบ้านตั้งแต่ปฐมวัย คือการ “ออม” หรือสั่งสมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ลูกทุกวัน วันละน้อยวันละนิด ไม่นานเมื่อลูกโต ออมสินเต็ม พ่อแม่ก็ชื่นใจ แต่จะให้ได้อย่างหวังพ่อแม่ต้อง “เอาตัวเข้าแลก” คือต้องค่อยๆสอน ค่อยๆเพิ่มโอกาสให้ลูกเรียนรู้ เป็นตัวอย่างให้ลูก ชื่นชมที่ลูกพยายามและตั้งใจทำ หากลูกทำแล้วเลอะเทอะ ยังทำได้ไม่ดี ต้องเตือนตนเองให้ใจเย็น ค่อยบอกค่อยสอน เมื่อลูกเริ่มบ่น ทำท่าเบื่อหน่าย โยเย ไม่พอใจหรือต่อรองเมื่อเริ่มเบื่องานบ้าน อดทนที่จะไม่ตามใจลูกแต่ให้กำลังใจเสริมแรงด้วยเทคนิคต่างๆ
ยิ่งฝึกงานบ้านเร็ว ยิ่งฝึกง่าย ยิ่งปล่อยเนิ่นนาน ยิ่งฝึกยาก ลูกวันหน้าจะมีคุณลักษณะอย่างไร อยู่ที่พ่อแม่เลี้ยงในวันนี้นี่เอง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ เรียบเรียง
อ้างอิง
1)พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์, 2566, มาทำงานบ้านกันเถอะ! : สรุปประโยชน์ 5 ข้อ เมื่อให้เด็ก ๆ ช่วยงานบ้านและแนวทางเบื้องต้น, คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/household-chores สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566
2)Annie Stuart, (2022), Divide and Conquer Household Chores, Webmed, ://www.webmd.com/parenting/features/chores-for-children, สืบค้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565
3)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา