เด็กไทยมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มซึมเศร้าตั้งแต่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ในการสำรวจเด็ก      ป. 4-6 ในกรุงเทพฯ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยใช้แบบสอบถามคัดกรองภาวะซึมเศร้าของเด็ก (Children Depression Inventory: CDI) พบว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้าถึง 60% ซึ่ง รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี ผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าว และชี้ว่า จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรองรับปัญหาได้ เนื่องจากเด็กซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองเพิ่มสูงขึ้นมากและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเร็วมากเกินกำลังแพทย์ที่มีอยู่

เด็กเล็กต้องมีความสุข ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น

เด็กไม่ได้เกิดมาเพื่อซึมเศร้า
โดยธรรมชาติ เด็กมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโต พร้อมที่จะเรียนรู้ อยากรู้จักพลังและศักยภาพของตนเอง อยากรู้จักผู้คนและโลกกว้าง การได้รับการตอบสนอง สนับสนุนตามความต้องการและพัฒนาการของแต่ละวัยอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข และการเล่นคือความสุขที่สุดอย่างหนึ่งของเด็กๆ ที่อยากจะเล่นเพื่อเรียนรู้ว่าตนทำอะไรได้แค่ไหนและโลกรอบตัวเป็นอย่างไร
เด็กเล่นตามสัญชาตญาณที่ชีวิตให้มา ตามความสนใจ และจินตนาการของตนเอง การเล่นของเด็กจึงเป็นการทดลอง ไม่มีผิดถูก แต่เป็นความสนุกและได้เรียนรู้ ได้พัฒนาทักษะสมอง มีร่างกายแข็งแรง คล่องแคล่วและสมดุล ได้พัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ ได้รู้สึก ได้แสดงออก สื่อสารกับผู้อื่นเป็น ได้ปรับตัว เรียนรู้ที่จะรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไปจนถึงการมีอารมณ์ขัน
การได้เล่นเพียงพอในช่วงปฐมวัย จะเป็นรากฐานสำคัญของความสุขในจิตใจ ที่ค่อยๆสะสมให้มั่นคงไปจนโต
การไม่มีโอกาสเล่นตามที่ควร จะสะสมภาวะทุกข์ไว้ในเด็กโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้เด็กมีภาวะซึมเศร้าเมื่อโต จำเป็นต้องให้เด็กได้เล่นอย่างเพียงพอ

เด็กที่เรียนหนักตั้งแต่อนุบาล  ถูกกดดันให้เครียด

พ่อแม่ปัจจุบันมักลืมไปว่า ธรรมชาติของเด็กต้องการอะไร ในสังคมที่ให้คุณค่ากับการแข่งขัน ทำให้พ่อแม่ที่ไม่ทันตั้งตัวได้คิด พากันเร่งให้ลูกอ่านเขียนเรียนหนักตั้งแต่อนุบาล ด้วยความคิดที่หวังดีกับลูกว่า จะทำให้ลูกของตนเก่งกว่า ชนะเด็กคนอื่นๆ ไปสอบเข้าชั้น ป.1 ได้ในโรงเรียนดีๆ เพื่อจะไปสู่อนาคตที่ประสบความสำเร็จ ตามมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับ การทำเช่นนี้ ขัดกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
เด็กอนุบาลนั้น กล้ามเนื้อมัดเล็กคือนิ้วมือ ยังไม่แข็งแรง การใช้มือกับตายังประสานกันไม่ได้ดี เมื่อถูกบังคับเร่งให้อ่าน สะกดคำ เขียนหนังสือเป็นตัวให้ได้ บางคนอาจทำได้ แต่เด็กส่วนมากไม่พร้อม การเร่งเรียนเขียนอ่านจึงเป็นการกดดันเด็กโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กเครียด ส่งผลต่อการเรียนรู้ให้ช้าลง ที่สำคัญถ้าทำไม่ได้ ไม่มีความสุข ก็จะทำให้ความรู้สึกต่อตนเองไม่ดี ไม่ชอบการเรียน เพราะคิดว่าการเรียนทำให้ไม่มีความสุข อาจเกิดภาวะเครียดสะสม

เด็กที่เครียดต่อเนื่อง ส่งผลต่อโครงสร้างสมอง

เด็กที่ถูกบังคับให้เรียนหนักตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล มักจะถูกกดดันไปจนถึงช่วงประถมด้วย เพราะเมื่อขึ้น ชั้นเรียนสูงขึ้น พ่อแม่ก็ยิ่งคาดหวังกดดันมากขึ้น จึงต้องตกอยู่ในภาวะความเครียดยาวนาน จะเกิดเป็นความเครียดสะสม (Chronic Severe Stress) ซึ่งทำให้ต่อมในสมองหลั่งอะดรีนาลีนและคอร์ติซอลมากกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง เด็กที่มีความเครียดสะสมจะเติบโตเป็นเด็กที่นอนไม่ค่อยหลับ หงุดหงิด ระเบิดอารมณ์ง่าย ก้าวร้าว ความเครียดยาวนานจะกลายเป็น Toxic Stress ที่ส่งผลให้โครงสร้างของสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง สมองส่วนหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับด้านการคิดและการเรียนรู้ จะทำงานช้าลง ขณะที่ในสมองส่วนกลางฮิปโปแคมปัสซึ่งทำงานเกี่ยวกับความจำ จะมีขนาดเล็กลง อะมิกดาลาที่เผชิญความเครียดต่อเนื่องทำงานหนัก ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากเกินจริง เปิดสัญญาณเตือนภัยตลอดเวลา ภาวะเช่นนี้ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ เรียนรู้ไม่ได้ดี
ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าแขนงของเซลล์ประสาทในสมองส่วนหน้า ซึ่งมีการเชื่อมต่อกันระหว่างเซลล์ประสาทอย่างมหาศาลโดยเฉพาะในวัย 0-6 ปี และบริเวณฮิปโปแคมปัสในเด็กที่เครียด จะมีความเสียหาย มีการเชื่อมต่อกันระหว่างเซลล์ประสาทน้อยกว่าในสมองของเด็กปกติ

ทำอย่างไรจะรู้ว่าเด็กเครียด

การสังเกต” ช่วยให้เราสามารถเช็คว่าเด็กกำลังมีความเครียดแค่ไหน กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาเครื่องมือสังเกตอาการ 9s  คือสังเกตเด็กใน 9 เรื่องว่ามีความรุนแรงระดับใด ได้แก่ ;  1.ซนเกินไป 2. ใจลอย 3. รอคอยไม่ได้ 4. เศร้าหรือเครียดหงุดหงิดง่าย 5. ท้อแท้เบื่อหน่าย 6. ไม่อยากไปโรงเรียน 7. ถูกเพื่อนแกล้ง 8. แกล้งเพื่อน 9. ไม่มีเพื่อน

หากไม่มีใครสังเกตเห็น ความเครียดอย่างต่อเนื่องจะพัฒนาไปสู่อาการซึมเศร้าเมื่อก้าวขึ้นไปเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ข้อมูลที่น่าตกใจที่ ศาสตราจารย์ พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ ประธานฝ่ายวิชาการ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเปิดเผย คือ การพบว่าเด็กวัยรุ่นไทย 30-60% มีความวิตกกังวล และ 27-46% มีอารมณ์ซึมเศร้า ในขณะที่พ่อแม่และครูส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกนึกคิดของเด็ก ทำให้ไม่มีใครสังเกต ใส่ใจ หรือเข้าใจเด็กที่มีความเครียด จนกว่าจะเกิดวิกฤติ เป็นปัญหาอย่างรุนแรงขึ้นมา

ความเครียดเกิดจากภาวะอารมณ์ที่ถูกบีบคั้น กดดันเกินกว่าความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่จะรับไหว และไม่มีทางที่จะระบายออก จนกลายเป็นความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ มีปัญหาเรื่องการกิน นอนไม่หลับหรืออยากหลับตลอดเวลา ปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง ไม่มีความสุข วิตกกังวล แต่ที่ร้ายที่สุดคือ การเกิดความรู้สึกต่อตนเองว่าไร้ค่า สิ้นหวัง ที่ไม่สามารถออกจากสถานการณ์ที่ตนเองควบคุมไม่ได้ จนทำร้ายตนเอง อยากตาย ซึ่งเป็นอาการซึมเศร้า

บทบาทพ่อแม่ ป้องกันโรคซึมเศร้า

พ่อแม่ เป็นได้ทั้งสาเหตุที่ทำให้เด็กเครียด เป็นได้ทั้งกำลังใจสำคัญ และเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กจากความเครียด โควิดสร้างความเครียดสะสมมาเกือบ 2 ปี พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้ สังเกตเด็ก ลดความคาดหวังเกินจริง ไม่กดดันลูก

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ การรับฟังและการให้เวลาคุณภาพกับลูก การรับฟังที่ดีนั้น คือ การฟังอย่างตั้งใจ พยายามเข้าใจสถานการณ์โดยไม่ตัดสิน และไม่รีบแสดงความคิดเห็น ให้ลูกได้แสดงความรู้สึกของตนออกมา สำหรับการให้เวลาคุณภาพนั้น คือ การได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูก ทำกิจกรรมสนุกด้วยกัน เช่น บอร์ดเกม เล่นดนตรี ดูหนัง เป็นต้น  และพาลูกไปสู่การมีชีวิตปกติของเด็ก ได้ออกกำลัง ได้เล่นให้มาก ได้เรียนรู้สิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตของตนและท้าทายตามพัฒนาการของวัย (ไม่ใช่ถูกกดดันตามความต้องการของผู้ใหญ่) ได้มีความสุขและประสบความสำเร็จในทุกวันที่เป็นเด็ก และรู้สึกว่า “ชีวิตเป็นสิ่งน่าหวงแหน” เกินกว่าจะทำลาย


ภาวนา อร่ามฤทธิ์   เรียบเรียง

อ้างอิง;
1) แพทย์หญิงปรารถนา เจรียงประเสริฐ, โรคซึมเศร้าในเด็ก, โรงพยาบาลมนารมย์, https://www.manarom.com/blog/depression_in_children.html สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566
2) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ภาวนา อร่ามฤทธิ์