การสำรวจภาวะถดถอย (Learning Loss)  ในเด็กอนุบาล 3 – ป.1 หลังสถานการณ์โควิด พบว่าเด็กไม่มีความรู้พอที่จะเรียนในชั้นต่อไป  มีงานวิจัยพบว่าในช่วงสถานการณ์โควิดดังกล่าว เด็กปฐมวัยมีการเรียนรู้เพียง 10% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ ในการสำรวจความพร้อมในการเรียนของเด็กปฐมวัย (School Readiness Survey) โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในเด็กอนุบาล 3 ทั่วประเทศในปี 65 แทบทุกจังหวัดเป็น “สีแดง”  จากเดิมที่มีเด็กใน 3 จังหวัดภาคใต้เท่านั้นที่เป็นปัญหา

 ในสถานการณ์โควิดที่มีการล็อคดาวน์ นอกจากเด็กไม่ได้เรียนรู้จากที่โรงเรียนตามที่ควรเป็น การเรียนรู้ทางออนไลน์ก็ไม่ได้ผลแล้ว ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกได้ จากภาระและปัญหามากมายที่เผชิญ ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ลูกน้อยลง เด็กใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์มากขึ้น ในครอบครัวไม่มีหนังสือให้เด็กอ่านเพียงพอ และไม่มีหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย

การเร่งรัดเรียนหนังสือ เพื่อชดเชยหลังสถานการณ์โควิด ไม่ใช่ทางออก

Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย มีความหมายที่กว้างกว่าเรื่องความรู้และวิชาการของเด็ก  UNESCO ระบุว่า Learning Loss เป็นความถดถอยทางการเรียนรู้ใน 3 ด้าน คือ

1. ความถดถอยด้านความรู้/วิชาการ พบมากในนักเรียนระดับมัธยม
2. ความถดถอยด้านทักษะทางสังคม (Social – Emotion Learning:SEL) ซึ่งเด็กปฐมวัยได้รับผลกระทบอย่างมากที่สุดในช่วงสถานการณ์โควิด  
3. ความถดถอยด้านอารมณ์ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการใช้ทักษะสมองส่วนหน้า EF ในการควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมและการเรียนรู้ของตนเอง มีสมาธิ รวมถึงการตระหนักเห็นคุณค่า (Self) ของตนเองลดลง

หลังโควิด การเร่งรัดเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้เพราะทักษะทางสังคมและอารมณ์มีผลกระทบโดยตรงต่อการเรียนรู้ด้านวิชาการของเด็ก การแก้ปัญหาต้องทำทุกมิติไปด้วยกันโดยเฉพาะกับเด็กปฐมวัย เรื่องที่ต้องเร่งทำ คือการฟื้นการเรียนรู้ทักษะสังคม (SEL) และทักษะด้านอารมณ์และพฤติกรรมก่อน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ด้านวิชาการในระดับประถมได้ดีต่อไป

พูดง่าย ๆ อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ คืนความสุขและการเล่นกับเพื่อนให้เด็กปฐมวัยก่อน 

ครูต้องให้เด็กเล่นเต็มที่ การเล่นคือการเรียนรู้ที่ได้ผลที่สุดในเด็กปฐมวัย

ในความสนุกสนานของการเล่น เด็กได้สมาธิ จดจ่อต่อเนื่อง ได้ฝึกจับใจความ ฟังคำสั่ง เรียนรู้กฎกติกา เรียนรู้ความหมาย เข้าใจสิ่งที่เล่น สังเกต คิดพลิกแพลง สื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ที่เล่นด้วยกัน ซึ่งเป็นการใช้ทักษะสมองส่วนหน้า EF ในสภาวะที่สมองส่วนกลางอิ่มเอม พึงพอใจ มีความสุข สภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะที่สร้างการเรียนรู้ได้ดีที่สุด กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็น อยากทำ และอยากทำให้ดีขึ้น มีแรงกระตุ้นในตัวเองที่จะการเรียนรู้ ค้นคว้า ถอดบทเรียน เพื่อเล่นให้ดีขึ้น สนุกขึ้น

เมื่อเล่นเก่งขึ้น ได้เรียนรู้ว่าร่างกายของตนเองทำอะไรได้มากขึ้น รู้และเข้าใจมากขึ้น เชี่ยวชาญมากขึ้น สิ่งที่ได้ตามมา คือ เจตคติที่มีต่อตนเอง ความอยากรู้อยากเห็นที่กระตุ้นให้ใฝ่รู้ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของเด็กในการเรียนรู้ และประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงานต่อไปในอนาคต

เล่นเพื่อระบายความเครียดที่สะสมในช่วงโควิดออกไป

หลังโควิด ครูต่างพบว่าเด็กสะท้อนความเครียดออกมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น หงุดหงิด ควบคุมตนเองไม่ได้ ซุกซนเกินไป ฯลฯ การเร่งเรียนชดเชย ยิ่งเพิ่มความเครียดให้มากยิ่งขึ้นไปอีก การได้เล่น ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้หัวเราะ ได้กำกับตนเอง ทำในสิ่งที่ตนรู้สึกสนใจ สนุก ในบรรยากาศที่ผ่อนคลายกว่าการตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือ หรือต้องทำให้ถูกตามที่ครูสอน

เหล่านี้จะค่อยๆทำให้ความเครียดได้ระบายออกไป พร้อมกับสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะอารมณ์-สังคมในเด็กปฐมวัยไปด้วย เพื่อให้พร้อมต่อการฟื้นฟูการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ก่อนที่จะก้าวสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้นต่อไป

ให้ทำกิจกรรม Active Learning  

การทดลองของ Edgar Dale เมื่อกว่าห้าสิบปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่า การเรียนรู้แบบ Passive Learning คือการที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายถูกกำหนดให้เรียนฝ่ายเดียว โดยไม่มีส่วนร่วมคิดหรือลงมือทำด้วยตนเองนั้นได้ผลน้อยแค่ไหน การได้อ่าน เห็นและฟังครูพูด จะเกิดผลการเรียนรู้ไม่เกิน 20%  ในขณะที่ผลของการเรียนรู้จะได้มากถึง 50% เมื่อเปลี่ยนการเรียนรู้เป็น Active Learning ให้ผู้เรียนได้โต้ตอบ ถกเถียง หารือแลกเปลี่ยนกัน และจะได้ผลยิ่งขึ้นเมื่อผู้เรียนได้ “ลงมือทำ” ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ไปได้ถึง 75% และจะได้ผลถึง 90% เมื่อสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือสอนผู้อื่น

สำหรับเด็กปฐมวัยนั้น การเรียนรู้แบบ Active Learning ยังเปิดโอกาสให้เด็กเล็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็กที่กำลังพัฒนา ทำงานประสานกับมือ ตา การเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีกว่ามากอีกด้วย

เสริมทักษะอารมณ์-สังคมในห้องเรียน

สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะอารมณ์-สังคมของเด็ก ทำให้เด็กได้รู้จักตนเองว่า อะไรและเมื่อไหร่ที่ตนเองรู้สึก ดีใจ เสียใจ กังวล ฯลฯ ตนเองมีจุดแข็งในเรื่องอะไร และจะใช้ให้เป็นประโยชน์และประสบความสำเร็จอย่างไร ตนเองมีจุดอ่อนในเรื่องอะไร และจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร เวลาเครียดจะจัดการตนเองอย่างไร 

นอกจากการรู้จักตนเอง สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง รู้กาลเทศะ ตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นด้วย

เด็กจะทำอย่างนี้ได้ ก็ต้องผ่านการเล่น เรียนรู้แบบ Active Learning และทำงานร่วมกันให้มากพอในห้องเรียนที่ครูเป็นผู้อำนวย (Facilitator) ให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในห้องเรียน

คุณครูปฐมวัยจึงต้องหันมาเน้นการส่งเสริมการเล่นที่หลากหลาย ในห้องเรียนของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย  เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่าง Active Learning การได้คิด ได้ลงมือทำ ได้เล่นกับเพื่อน จะช่วยเติมเต็ม ฟื้นฟูส่วนของการเรียนรู้และพัฒนาการที่พร่องหายไปในช่วงโควิดได้เป็นอย่างดี บนพื้นฐานที่คุณครูสำรวจภาวะจิตใจเด็ก และเติมเต็มความสุข ความสดชื่น ความรู้สึกมั่นใจในตนเองให้เด็กๆ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า โอกาสที่ถูกจำกัดกว่า 2 ปีจากสถานการณ์โควิดจะได้รับการชดเชย ฟื้นฟูกลับคืนมาอย่างแท้จริง


ภาวนา อร่ามฤทธิ์  เรียบเรียง

อ้างอิง;
1) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ภาวนา อร่ามฤทธิ์