พัฒนาการปฐมวัยไม่ใช่การเร่งเรียนเขียนอ่าน

เด็กปฐมวัยในประเทศไทยได้รับบริการการศึกษาในระบบค่อนข้างทั่วถึง (แม้ว่าเด็กปฐมวัยในกรุงเทพฯที่มีอายุ 3-5 ปีจะเข้าถึงระบบการศึกษาได้น้อยที่สุดในประเทศไทย ก็ยังมีอัตราการเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลประมาณ 71%)

เป็นที่ตกผลึกและยอมรับทางวิชาการกันทั่วโลกว่า เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะการเล่นคือการเรียนรู้และการทำงานของเด็ก  ที่จะช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการทั้ง 4 ด้านทั้งร่างกาย; กล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็กได้รับการพัฒนา เด็กสามารถทรงตัวได้ดี ด้านอารมณ์จิตใจมีความเบิกบาน แจ่มใส มีพัฒนาการเข้าสังคมที่ดี และมีการเรียนรู้ภาษาดีขึ้น มีคลังคำมากขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติจากการเล่นกับคนอื่น และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้เกิดขึ้น  รวมถึงเป็นโอกาสให้เด็กได้มีพัฒนาการด้านตัวตน(self) รู้จักตนเอง และเห็นคุณค่าในตนเอง รวมทั้งมีพัฒนาการด้านทักษะสมอง EF- Executive Functions
พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็กปฐมวัยเป็นพัฒนาการสำคัญ ที่ส่งผลต่อพัฒนาการด้านอ่านออกเขียนได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ด้านอื่นๆในขั้นสูง   เพราะตามหลักการทำงานของสมองส่วนอารมณ์  ถ้าสมองส่วนอารมณ์เบิกบานแจ่มใส เรียนรู้แบบสนุก  รู้สึกปลอดภัย  เด็กก็จะชอบเรียนรู้และเรียนรู้ได้ดี  จากการศึกษาของยูเนสโกพบว่า สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอารมณ์-สังคมของเด็กเล็กมากที่สุด เมื่อพัฒนาการด้านอารมณ์-สังคมมีปัญหาหรือมีการพัฒนาที่บกพร่องไป  ไม่ว่าจะเนื่องจากปัจจัยใด ก็จะส่งผลกระทบต่อไปยังพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็ก
เด็กเล็กจึงควรได้รับโอกาสให้อยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ สื่อสารและทำกิจกรรมหลากหลาย เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม ที่จะนำไปสู่การมีพัฒนาการด้านภาษาและตัวเลขที่ดีขึ้น การมีปฏิสัมพันธ์สื่อสาร โต้ตอบกับมนุษย์และประสบการณ์จริง จะทำให้เด็กเล็กเข้าใจ “ความหมาย” ของคำแต่ละคำที่เรียนรู้เพิ่มมาในแต่ละวัน ต่างจากนกแก้วนกขุนทองที่รู้คำ พูดได้ แต่ไม่เข้าใจความหมาย

เมื่อเขียนอ่านไม่ได้ แต่ถูกกดดัน เด็กจะเครียด

เด็กต้องการการเรียนรู้จากคนรอบข้างและสภาพแวดล้อม เด็กที่มีคนพูดด้วย ได้พูดตาม โต้ตอบ ซักถาม หยอกล้อ มีคนอ่านหนังสือหรือนิทานให้ฟังจะเริ่มสะสมคลังคำจนมีมากพอ ที่เด็กจะอ่านหนังสือออก และจะเขียนหนังสือได้เองเมื่อกล้ามเนื้อพัฒนาแข็งแรงพอ การถูกเร่งและกดดันให้อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่อายุน้อยเกินไปทำให้เด็กมีประสบการณ์เชิงลบกับการเรียน กลายเป็นประสบการณ์เลวร้าย หากเด็กทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีเพราะยังไม่ถึงเวลาของพัฒนาการ เด็กก็จะถูกทำให้เสีย Self ตั้งแต่ยังเล็ก กลายเป็นความไม่เชื่อมั่นในตนเองว่าจะเรียนรู้ได้

หลังสถานการณ์โควิด จากที่เด็กเคยอยู่แต่บ้าน ไม่มีเพื่อนเล่นด้วย ขาดทักษะการอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่น     เมื่อเด็กกลับเข้ามาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนตามปกติ เด็กจะมีความเครียดจากการแยกออกจากพ่อแม่เป็นทุนเดิม  อยู่แล้ว ครูปฐมวัยจึงพบว่าเมื่อกลับเข้ามาเรียนใหม่ เด็กเล็กมีปัญหาพฤติกรรม มีปัญหาการสื่อสารที่ไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ และมีความสนใจสั้น ซึ่ง ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย จากยูนิเซฟ ให้ความเห็นว่า  โดยภาพรวมนั้นสะท้อนว่า เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง (Self-Esteem) เมื่อถูกกดดันให้เร่งเรียนตามเป้าหมายที่ผู้ใหญ่กำหนด ยิ่งสร้างภาวะความเครียดทับถมลงไปให้เด็กเครียด และขาดความมั่นใจในตนเองยิ่งขึ้น

เด็กเบื่อโรงเรียน ไม่รักการเรียน การเรียนคือความทุกข์

ธรรมชาติให้ความอยากรู้อยากเห็นเป็นของขวัญแก่มนุษย์ทุกคน เพื่อเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในโลก พัฒนาการของเด็กเล็กทุกคนจาก คืบ คลาน เดินได้ก็จะออกสำรวจ แตะ จับ หยิบของเข้าปาก ฟัง เลียนแบบ ถาม กระโดด วิ่ง ทดลอง ฯลฯ เรียนรู้ว่า อะไรเป็นอะไร อะไรที่ตนทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ พัฒนาไปจนถึงการอ่านออกเขียนได้ และเรียนรู้ความรู้พื้นฐานเพื่อเข้าใจโลกรอบตัว เข้าใจตนเอง

เด็กที่ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องและสนับสนุนพัฒนาการทางสมอง ร่างกาย อารมณ์และสังคมตามวัย จะรู้สึกมีความสุขกับการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ มีทักษะและประสบความสำเร็จในการเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การเรียนรู้มีความหมาย เกิดความภาคภูมิใจ อยากเรียนรู้ต่อ เป็นพลังของความกระหายใคร่รู้และต้องการพัฒนาตนเองไม่สิ้นสุด นี่คือคุณค่าของการเรียนรู้ที่เด็กทุกคนสมควรได้รับ

หากหลังโควิด ในห้องเรียนเด็กยิ่งถูกเร่งเรียนเขียนอ่านเพื่อบรรลุตัวชี้วัดของผู้ใหญ่ การเรียนจะกลายเป็นยาขม เป็นความทุกข์และความเครียดของทั้งครูและเด็ก ทำให้การเรียนเป็นเรื่องที่ต้องบังคับกัน เด็กจะเบื่อ ไม่รักเรียน และครูก็แสนเหน็ดเหนื่อย เพราะกำลังทำในสิ่งที่ขัดกับพัฒนาการตามวัย และไม่ได้โอบอุ้มเด็กให้รู้สึกปลอดภัยหลังพ้นจากวิกฤติโควิด ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ จาก Unicef ระบุว่า เด็กที่มีปัญหาในการปรับตัวกลับเข้าสู่โรงเรียน มีความเครียด กังวล จะกระทบต่อการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า EF ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ขั้นสูง

โรงเรียนคือสถานที่ฝึกฝนทักษะ เสริมสร้างสมรรถนะ และคุณลักษณะนิสัย

แทนการเน้นวิชาการ เร่งอ่านเขียน ติวสอบแบบแพ้คัดออก ที่ซ้ำเติมและทำร้ายเด็กต่อจากวิกฤติโควิด โรงเรียนควรมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กปฐมวัยหลังโควิด ด้วยการจัดกิจกรรมในแนว Play-Based Learning (เรียนรู้ผ่านการเล่น) และ Active Learning (การเรียนรู้ที่ได้คิดและลงมือทำ) ได้แก่;

กิจกรรมช่วยเหลือตนเอง ให้เด็กช่วยเหลือตนเองมากขึ้น (จากที่พ่อแม่มักทำให้ลูกทุกอย่างในช่วงโควิดที่อยู่ด้วยกัน)
กิจกรรมสื่อสาร ฝึกให้เด็กบอกความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของตน
การปฏิบัติตามข้อตกลง  ฝึกให้รอ เก็บของเล่น นอนกลางวัน ฯลฯ
กิจวัตรประจำวัน รู้เส้นทางชีวิตใน 1 วันว่าต้องทำอะไร เวลาใด และได้ฝึกทำจนเป็นนิสัย
การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ในขอบเขตและความสามารถที่เด็กทำได้
กิจกรรมที่เรียนรู้บนฐานธรรมชาติ (Nature-Based Learning) ให้เด็กได้เคลื่อนไหวและอยู่กลางแจ้งท่ามกลางธรรมชาติมากขึ้น

โดยครูให้ความสำคัญกับการปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้เด็กรู้สึกปลอดภัย มุ่งไปที่การพัฒนาสมรรถนะ และคุณลักษณะนิสัย ให้เด็กเป็นคนรู้จักตนเอง (Self-Perception) รู้ความสามารถของตนเองมากขึ้น มีทักษะสมองส่วนหน้า (EF-Executive Functions) ดี สามารถกำกับตนเอง (Self – Regulation) ทั้งอารมณ์ ความคิดและการกระทำ ยืดหยุ่น ปรับตัวและฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเผชิญปัญหา
ทั้งนี้ โดยโรงเรียนต้องทำงานให้ความรู้และสร้างความร่วมมือกับพ่อแม่ดูแลเด็กเป็นรายบุคคลด้วย
โรงเรียนและครูจึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่คอยช่วยเหลือพ่อแม่ให้รู้จักกระตุ้นเด็กให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังที่ รศ. นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความสำคัญไว้


ภาวนา อร่ามฤทธิ์ : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1) ชลิตา สุนันทภรณ์, (2018), เรียนปนเล่น เล่นปนเรียน: กระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย, https://thepotential.org/family/play-based-learning/สืบค้น เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565
2) สสส. (ข่าว), (2560)งานวิจัยเผยจี้เร่งเรียนเขียนอ่าน ส่งผลหยุดยั้งทักษะสมองต่ำ, https://www.thansettakij.com/business/235933, สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565
3) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ภาวนา อร่ามฤทธิ์