หลังสถานการณ์โควิดเบาบางลง เสียงจากครูปฐมวัยสะท้อนว่า เด็กมีอาการงอแง หงุดหงิดมากขึ้น กำกับตนเอง และช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง บางรายมีพฤติกรรมที่ถดถอย
ภาวะเช่นนี้ อาจชี้สาเหตุได้ว่า มาจากการไม่มีสังคม ไม่มีชีวิตปกติของเด็ก ไม่ได้เล่นกับเพื่อน หรือต้องอยู่ในครอบครัวที่มีความเครียดจากความยากจน ตกงาน มีการเจ็บป่วย ซึ่งเด็กก็ซึมซับการแสดงออกและอารมณ์ของพ่อแม่
ศาสตราจารย์คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ ประธานฝ่ายวิชาการ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า หากครูไม่มีความรู้พอ แปลสัญญาณพฤติกรรมที่เด็กแสดงไม่ออก โรงเรียนไม่มีระบบประเมินเด็ก ไม่มีการเตรียมการช่วยเหลือในด้านนี้ เมื่อเด็กกลับเข้ามาเรียน คุณครูกลับไปกังวลเรื่องเรียนไม่ทัน เร่งรีบอัดเนื้อหาความรู้ ปัญหาแท้จริงของเด็กก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และจะกลายเป็นผลกระทบต่อไปในระยะยาว ทั้งต่อระบบต่างๆของร่างกาย ต่อสมองในส่วนของการเรียนรู้ การใช้เหตุผล และพัฒนาการ ซึ่งยิ่งเนิ่นนานไป การบำบัดฟื้นฟูยิ่งทำได้ยาก

เด็กทุกคนต้องการความรักความอบอุ่นเพื่อสร้างฐานที่มั่นทางจิตใจ

ศาสตราจารย์คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ ชี้ว่า สิ่งที่เด็กต้องการที่สุดหลังโควิด คือความสุข ความสุขจากการอยู่ในบ้านที่ไม่มีความเครียดมากจนเกินไป ความสุขจากสัมพันธภาพอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ความสุขจากการได้ออกสู่โลกกว้าง ได้ไปโรงเรียน ได้เล่นกับเพื่อน
แต่ที่สำคัญที่สุด คือความสุขจากการเป็นที่รัก เด็กต้องการการเอาใจใส่ที่อบอุ่น ไม่ใช่การเร่งอ่านเขียนเรียนหนังสือ ไม่ใช่การถูกจ้ำจี้จ้ำไช บังคับให้เรียน ทำการบ้าน การท่องจำ หากจิตใจของเด็กมีความสุขแล้ว การเรียนรู้ก็จะตามมา ซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมชาติของสมองมนุษย์ที่ว่า เมื่อสมองส่วนอารมณ์รู้สึกมั่นคงปลอดภัย หรือมีความสุข ก็พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้สมองส่วนคิดหรือเหตุผลทำงาน

วิธีที่ง่ายที่สุด ได้ผลดีที่สุด ในการเสริมสร้างพลังชีวิตให้เด็กหลังสถานการณ์โควิด คือการกอด

ลองเปลี่ยนสถานการณ์ในบ้านจากเสียงร้องไห้ งอแง โวยวาย เสียงดุ การทำโทษ ความก้าวร้าว หงุดหงิด เป็นบรรยากาศที่สงบลง ด้วยอ้อมกอดของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ใครคนหนึ่งในบ้านเกิดอะไรขึ้นในสมองและร่างกายของเด็กเล็กๆ (รวมไปถึงผู้ใหญ่ตัวโต) ที่ได้รับการกอด

          เมื่อถูกกอด ประสาทสัมผัสบริเวณผิวหนัง จะเกิดการส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆจากประสาทสัมผัสนี้ไปยังสมอง ทำให้เซลล์ประสาทเป็นบริเวณกว้าง เชื่อมต่อกัน เป็นวงจรที่แข็งแรงขึ้นตามจำนวนและเวลาของการกอดที่ได้รับ การศึกษาเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พบว่า ปกติเด็กเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครอุ้ม จึงมีพัฒนาการล่าช้าและมีความบกพร่องทางสติปัญญา เมื่อเทียบกับเด็กทั่วไป แต่เมื่อได้รับการกอดนานวันละ 20 นาทีติดต่อกันเป็นเวลา 10 สัปดาห์ซึ่งเท่ากับ 70 วัน แล้วทำการประเมินพัฒนาการของสมอง พบว่าเด็กเหล่านี้ทำคะแนนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และ ที่โรงพยาบาลในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็พบในการวิจัยเด็ก 125 คนที่คลอดตามปกติและคลอดก่อนกำหนด ว่า การกอดส่งผลต่อการพัฒนาของเด็ก แม้เด็กเกิดมาจะสมบูรณ์ต่างกัน 

อย่างไรก็ตาม การกอดที่มีประสิทธิภาพต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 20 วินาที ซึ่งนานพอที่จะทำให้โครงข่ายกระแสประสาทนับล้านส่งสัญญาณไปยังสมอง กระตุ้นสารสื่อประสาทหรือฮอร์โมนต่างๆ ให้ทำงานอย่างสมดุล

          งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันออฟเมดิซีน ในเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ในปี 2012 ก็พบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม เช่น ได้กินอิ่มนอนหลับ ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และมีคนแสดงความรักผ่านการกอด เป็นต้น ส่งผลให้ฮิบโปแคมปัสที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งอยู่ในบริเวณสมองส่วนกลาง และทำหน้าที่สำคัญในการเรียนรู้และการตอบสนองต่อความเครียดนั้น โตขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของการกอดและการได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ว่าสัมพันธ์กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งส่งผลให้เด็กมีความสามารถตอบสนองต่อการเรียนรู้และการพัฒนาการรู้คิด ได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย

การกอดคือการก่อสร้างจิตใจที่ราคาถูกที่สุด

เวลาที่เด็กเครียด จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนและคอร์ติซอลขึ้นทั้งในสมองและร่างกาย หากทั้งสองฮอร์โมนนี้มีมากเกินไป จะส่งผลให้ทั้งอารมณ์และภูมิคุ้มกันของระบบร่างกายแย่ลง การฟื้นตัวทั้งทางอารมณ์และร่างกายจะทำได้ลำบากขึ้น การกอดจะกระตุ้นการหลั่งของออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความสุข ไว้วางใจ ความปลอดภัย ที่ไปกระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโตโดยเฉพาะในร่างกาย คลายความวิตกกังวลและบรรเทาอาการเจ็บป่วย จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางกายและทางใจมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น  

เด็กที่ได้รับการกอดตั้งแต่แรกคลอด จะร้องไห้โยเยน้อยกว่า จะมีทักษะจัดการความเครียดได้ดีกว่า การกอดเด็กช่วยให้ความว้าวุ่นและอารมณ์รุนแรงของทั้งเด็กและผู้ใหญ่สงบลง ในขณะที่ผู้ใหญ่สัมผัสถึงความรักเมตตาที่เกิดขึ้นภายในใจตนเอง เด็กก็ได้เรียนรู้ว่าตนเองมีคนที่รักและมีแหล่งพักพิงใจยามที่กลัว เจ็บ ง่วง โกรธ ไม่สบายใจ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การกอดยังช่วยให้เด็กๆ และลูกของเราพัฒนาความสามารถในการล้มแล้วลุกได้ (Resilience) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในโลกนี้ได้อย่างดีด้วย

กอดเพื่อบอกลูกว่า…….รัก และมีพ่อแม่อยู่ตรงนี้จริง

กอดลูกทุกวันตั้งแต่วันที่ลูกเกิดมา ผูกความรักความผูกพันเป็นสายใยที่แข็งแรง เป็นสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น ฝังในความทรงจำว่าหนูเกิดมามีพ่อแม่รัก หากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ การได้รับการกอดทุกวันจากผู้ที่อยู่ดูแลไม่ว่าจะเป็นปู่ย่า ตายาย ก็ฝังความทรงจำได้ว่า เกิดมาเป็นที่รักที่ต้องการ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น อารมณ์ดี มีความมั่นใจต่อโลก มองโลกในแง่ดี และมีความมั่นใจในตนเองเกิดขึ้นตามมาและจะพัฒนาต่อไปเป็นบุคลิกภาพของคนที่มีอารมณ์มั่นคง

กอดลูกทุกวันให้เป็นนิสัย ในตารางชีวิตที่ใช้ร่วมกัน กอดกันทุกเช้าก่อนออกจากบ้าน กอดกันก่อนนอน กอดกันทุกโอกาสที่อำนวย ยามสุขได้หัวเราะแล้วกอดกัน ดีใจได้โผกอดกัน ยามหงุดหงิด ไม่สบายใจโอบตัวลูกเข้ามากอดปลอบใจ ยามลูกตกใจ ผวา หรือกลัวกอดลูกไว้ให้รู้ว่าอกพ่อแม่เป็นแหล่งที่พึงพิงได้ ยามลูกควบคุมตนเองไม่ได้ โวยวายอาละวาด จับตัวลูกเข้าในวงแขนแล้วกอดให้อารมณ์สงบลง หากลูกยิ่งดิ้น อาละวาด คว้าตัวมากอดให้แน่น ให้ลูกรับรู้ว่าอ้อมกอดนี้เป็นอ้อมกอดของความรัก และความจริงจัง ที่ช่วยให้ลูกประคองตนเองจนกว่าจะสงบลงได้ ยามจนปัญญาไม่รู้จะจัดการลูกอย่างไร ให้กอดลูกและจับมือลูกมากอดตนเอง กอดกันให้นานพอ ให้พลังของการกอดทำงาน ถ่ายเทความรู้สึกรักให้แก่กันและกัน ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายผ่อนคลายลง สงบลง แล้วค่อยคิดหาทางออกกันต่อไป

หลังโควิดแก้ความทุกข์เครียดของลูกด้วยการกอด

หลังโควิด ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตได้ว่า ลูกหลานของเรา(ไม่ว่าปฐมวัย หรือวัยที่โตกว่านั้น) เปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ไม่ค่อยมีความสุข หรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ไม่พึงประสงค์  ก่อนที่จะลงมือแก้ไขด้วยวิธีใดๆ ขอให้มั่นใจว่า  เราจะใช้ความกอดนำทางการพัฒนาลูก แล้วท่านจะได้พบความมหัศจรรย์จากการกอดลูก และพบว่า ลูกมีพฤติกรรมไปในทางบวกอย่างน่าชื่นใจ เด็กที่ได้รับความรัก ทักษะสมองส่วนหน้า EF ก็จะพร้อมทำงาน สติกลับคืนมา คิดอ่านอะไรก็จะง่ายขึ้น

กอดกันไม่เสียเงินสักบาท แล้วอย่าลืมเคล็ดลับสำคัญ ครั้งต่อไปกอดกันนับให้ได้ 1-20 เพื่อให้พลังของการกอดทำงานกับสมองและร่างกายอย่างเต็มที่


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง
1)Frank D. A., et. Al., (1996), Infants and young children in orphanages: one view from pediatrics and child psychiatry, NIH., https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8632947/ สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566
2)Gary Drevitch, (2019), Hugs: Your Child Craves Them, Psychology Today,
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-danish-way/201912/hugs-your-child-craves-them, สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566
3)Theodora Blanchfield, (2022), The Power of a Hug On Our Health, Verywell Mind, https://www.verywellmind.com/the-power-of-a-hug-on-your-health-5211361/สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566
4)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี