สถานการณ์โควิดทำให้วิถีปกติของเด็กปฐมวัยชะงักงันนานกว่า 2 ปี จากการล็อคดาวน์ และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) : โรงเรียนปิด การเรียนออนไลน์ที่ไม่ได้ผล การอยู่บ้านกับผู้ปกครองซึ่งไม่มีเวลา และมีความเครียด หรือร้ายกว่านั้น บางครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโควิด เด็กถูกแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือบางคนสูญเสียผู้เป็นที่รัก ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการตามวัย และหน้าต่างแห่งโอกาส (Windows of Opportunity) ในการพัฒนาทักษะสมอง พัฒนาตัวตนและพัฒนาการองค์รวมที่สำคัญของเด็ก ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงวัยนี้เท่านั้น กำลังผ่านไปโดยไม่กลับมาอีกใช่หรือไม่ ?? ถ้าเช่นนั้นควรทำอย่างไร

ฟื้นฟูพัฒนาการให้กลับมาสมวัยโดยเร็วที่สุด

ทักษะสำคัญที่สุดที่มนุษย์ทุกคนต้องมี คือ ทักษะอารมณ์-สังคม ที่จะสร้างความรู้สึกนึกคิดต่อตนเอง ต่อผู้อื่น เข้าใจผู้อื่นๆ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีกฎกติการ่วม
เมื่อโควิดซาลง การฟื้นฟูพัฒนาการให้กลับคืนมาได้ดีที่สุด นักวิชาการเน้นว่า ต้องเริ่มที่คืนความสุข และคืนสังคมให้แก่เด็กๆ ด้วยการให้โอกาสเล่นกับเพื่อนให้มากที่สุด ไม่ใช่คืนการเรียนหนังสือหรือเร่งทำการบ้าน
ผู้ใหญ่เราต้องเข้าใจว่า การเรียนเขียนอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น เด็กยังมีเวลาเหลือเฟือ หากจะวัดความสามารถในการรู้หนังสือและคำนวณ ก็ไปตามทันกันได้ในช่วงอายุ 9-12 ขวบ เพราะหน้าต่างแห่งโอกาสในการเรียนรู้วิชานั้นเปิดตลอดเวลา เด็กที่ได้เล่นมากเพียงพอในช่วงปฐมวัย พัฒนาการด้านตัวตน ด้านทักษะสมอง EF พัฒนาการกล้ามเนื้อใหญ่ และกล้ามเนื้อเล็ก รวมถึงภาษา และด้านอารมณ์- สังคม จะพัฒนาได้ดี จึงมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า เด็กที่ได้เล่นมากๆ จะเรียนหนังสือในระดับประถมได้ดีกว่า แม้จะไม่ได้เน้นการเร่งเรียนเขียนอ่านก็ตาม ในต่างประเทศที่เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน เช่น ฟินแลนด์ เด็กจึงไม่ถูกเร่งเรียนเขียนอ่านก่อนวัยอันควร เพราะเสียเวลาเปล่า แถมยังเสียโอกาสที่สำคัญที่สุดในช่วงพัฒนาการปฐมวัย ที่ธรรมชาติของชีวิตให้มา

เร่งเสริมทักษะอารมณ์-สังคม (Social and Emotional Learning – SEL) ชดเชยที่ถูกเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ไปถึง 2 ปี

การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม เป็นกระบวนการในการฝึกฝนให้เด็กรู้จักตนเอง (Self-Awareness) รู้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไร คิดอะไรอยู่ รู้ว่าตนเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทำอะไรได้ดี ยังทำอะไรไม่ได้ และรู้จักที่จะจัดการตนเองได้ (Self-Management) ควบคุมอารมณ์เป็น หยุดร้องไห้ได้ หยุดงอแงได้ ไม่หงุดหงิดหากไม่ได้ดั่งใจ  กำกับการกระทำของตนเองได้ ไม่โวยวายนอนดิ้นจะเอาชนะ ฯลฯ

 การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม (SEL) ยังหมายถึงการรู้จักสังคม (Social-Awareness) ฝึกฝนที่จะเรียนรู้ว่า คนอื่นมีความรู้สึก ความคิด ความชอบที่ต่างออกไป ไม่เหมือนตนก็ได้ ทำให้เด็กสามารถ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เห็นใจ สงสารคนอื่นเป็น มีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship) รู้ว่าเวลาคุยกัน เราต้องฟังคนอื่นด้วย อยู่ด้วยกันแบ่งปันของเล่น ของกิน ไม่เอาเปรียบเพื่อน พูดจากับคนอื่นดีๆ เห็นใจ ช่วยเหลือ รู้จักต่อรอง รู้จักปฏิเสธในสิ่งที่ตนไม่ชอบหรือเห็นว่าไม่ดี รู้จักขอความช่วยเหลือในสิ่งที่ตนทำยังไม่ได้

นอกจากนี้การเรียนรู้ทักษะอารมณ์-สังคม ยังต้องพัฒนาทักษะการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น (Responsible Decision-Making Skills) เด็กจะต้องรู้ว่า ตนต้องรู้จักรับผิดชอบต่อคนอื่นหรือส่วนรวม ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำ ใส่ใจความปลอดภัย ไม่ทำตนเองเจ็บ ไม่ทำให้คนอื่นเจ็บ รู้จักคิดถึงผลการกระทำของเราที่อาจกระทบคนอื่น เช่น เราทำบ้านรก คนอื่นก็อยู่ไม่สะดวก เราใช้น้ำมากก็อาจทำให้คนอื่นมีน้ำใช้น้อย ทำอะไรไม่ทิ้งเป็นภาระให้คนอื่นตามเก็บกวาด กล้าที่จะทักท้วงเมื่อเห็นหรือสงสัยว่าไม่ถูกต้อง เป็นต้น

การสร้างการเรียนรู้ทักษะอารมณ์-สังคม ไม่ใช่การพูดให้เด็กฟัง หรือเรียนแบบจดบันทึก แล้วท่องเอามาสอบ แต่จะเรียนรู้ได้ผ่านการเล่น การใช้ชีวิตร่วมกัน ได้มีโอกาสทำกิจกรรมสนุกด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน สำเร็จไปด้วยกัน โดยมีผู้ใหญ่เพียงเฝ้าดู ก้าวก่ายให้น้อย ให้กำลังใจให้มาก และสนับสนุนให้เด็กได้กลับมาทบทวน พูดคุย แลกเปลี่ยนกันหลังเล่นหรือทำงานด้วยกัน

เสริมทักษะ “ล้มแล้วลุกได้” ไม่ว่าจะเจอปัญหาใดๆ

การปล่อยให้เด็กได้ทำอะไรต่างๆเอง อาจขัดกับความเคยชินของผู้ใหญ่ที่รู้มากกว่า

ผู้ใหญ่ก็ต้องหายใจลึกๆ ประคองตนเองให้อยู่ในสภาวะปลอดโปร่ง ยับยั้งชั่งใจไม่ใช้ความเคยชินเดิมที่มักทำแทนลูกหลาน ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ให้เด็กเล็กได้เรียนรู้ ลงมือทำผ่านประสบการณ์ตรงของเขาเอง ได้เล่นมากๆ ได้ทำงานบ้าน เชื่อใจลูกของเรา ว่าเด็กๆสามารถเรียนรู้ได้ จากสิ่งที่เราทำ หรือตามแบบอย่างที่เราเป็น และให้เวลาให้เด็กๆได้เติบโต ทำผิดบ้างถูกบ้าง แล้วค่อยๆ ทำได้ดีขึ้นไปตามกาลเวลา

ชีวิตปฐมวัยที่หายไปแล้วสองปี ไม่อาจเอาคืนกลับมา แต่เราสามารถใช้เวลา “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่ยังเหลืออยู่ไม่มากนักมาเติมเต็มได้  เริ่มต้นที่ตัวเรา ใส่ใจลูกหลานจริงจัง เปิดโอกาสให้ลูกได้คิด ได้ฝึก ได้ทำ ได้ผิด ได้พลาด ได้รู้จักตนเอง และอยู่กับผู้อื่น เวลาที่ลูกล้ม ทำผิดทำพลาด ไม่ซ้ำ ไม่โอ๋ แค่อยู่ข้างๆบอกให้รู้ว่า เข้าใจว่าหนูเจ็บ และยิ้มส่งกำลังใจให้ลุกขึ้น เป็นเด็กคนไหนก็อยากลุก และยิ้มได้ เพราะนั่นคือธรรมชาติของเด็ก ที่อยากทำอะไรได้ด้วยตนเอง

ประสบการณ์คุณภาพที่รู้ว่าพ่อแม่รัก และ ผิดเป็นครู เมื่อสะสมมาเรื่อยๆ จะทำให้มีความรู้และทักษะ

“ลุกได้ทุกครั้งที่ล้มลง”


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง ;
1)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี