ในสถานการณ์โควิด การเรียนการสอนหยุดชะงักนานถึง 2 ปี การสอนออนไลน์ทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มต้นสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ (Foundational Stage of Learning) เกิดเป็นภาวะในเด็ก ที่เรียกกันว่า “พัฒนาการเรียนรู้ถดถอย” หรือ Learning Loss

เมื่อโรงเรียนเปิด การกลับเข้าสู่วงจรที่เด็กต้องตื่นแต่เช้า ไปโรงเรียน ทำกิจกรรมตามตารางที่โรงเรียนกำหนดเหมือนเดิมเท่านั้น อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยฟื้นฟูพัฒนาการของเด็ก หนึ่งกิจกรรมที่นักวิชาการทั่วโลกยืนยันว่า จะช่วยฟื้นฟูพัฒนาการการเรียนรู้ที่สูญเสียไปให้กลับคืนมาได้ คือการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นประจำ

การอ่านหนังสือกับลูก จะช่วยฟื้นฟูพัฒนาการอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ที่เคยเจอปัญหาว่าลูกอายุสามขวบ ไม่ชอบแปรงฟัน สอนเท่าไรๆก็ไม่ยอมแปรง แต่พอได้อ่านหนังสือเรื่อง “หนูนิดไม่ยอมแปรงฟัน” ลูกกลับยอมแปรงฟันอย่างง่ายดายนั้น จะเข้าใจได้ง่ายว่า หนังสือเป็นสื่อที่มีผลต่อการพัฒนาพฤติกรรมเด็กเล็กอย่างไร
ประการแรก การอ่านหนังสือเป็นประจำทุกวันให้ลูกฟัง จะสร้างประสบการณ์ผูกพันให้ลูกรับรู้ว่า ความสุขความอบอุ่นบนตักของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย กับความสนุกมหัศจรรย์ในโลกจินตนาการนั้น เป็นสิ่งวิเศษสุด
ประการที่สอง โดยปกติในชีวิตประจำวัน เราใช้คำพื้นฐานในการสื่อสารกันประมาณ 4,000 คำ แต่หนังสือสามารถขยายขอบเขตคลังคำ มากกว่าที่พ่อแม่ใช้พูดคุยกับลูกมากมาย เด็กอาจเรียนรู้ว่า ดวงอาทิตย์ พระอาทิตย์เป็นสิ่งเดียวกันกับ สุริยา ดวงตะวัน ฯลฯ การอ่านจึงเป็นการเพิ่มพูนคำศัพท์ในสมองของเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้พัฒนาการด้านภาษาและการเรียนรู้ ดีกว่าเด็กที่ไม่มีใครอ่านหนังสือให้ฟังมากนัก นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า เด็กที่ได้อ่านนิทานสั้นๆ วันละเรื่อง กว่าเด็กจะเติบโตเขาจะได้ยิน “คำ” มากกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่านหนังสือถึง 290,000 คำ ถ้าพ่อแม่อ่านให้ลูกฟังวันละ 5 เรื่อง คำที่ได้ยินจะมากกว่าถึง 1,400,000 คำ นี่จึงอธิบายได้ว่า เด็กที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน จะมีสมองที่มีประสิทธิภาพ มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนมากกว่า
ประการที่สาม เมื่อเด็กได้อ่าน สมองจะทำหน้าที่แปลงตัวอักษรเป็น “คำ” ที่มีความหมาย และเปลี่ยน “คำ” ที่มีความหมายนั้น เป็นความคิด นำไปสู่การอ่านเพื่อทำความเข้าใจ และการเขียน เพื่อสื่อสารสิ่งที่ตนคิดออกมา ระหว่างที่อ่านหนังสือ สมองจะประมวลภาพ ภาษา และการเรียนรู้เชื่อมโยง (Associative Learning) ไปพร้อมกัน เมื่อเด็กต้องเรียนหนังสือ การอ่านจึงส่งผลและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ศูนย์การอ่านของโรงพยาบาลเด็กซินซินเนติ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยสแกนสมองของเด็ก 0-5 ปี พบว่า เด็กที่เล่นมือถือมากกว่าวันละ 1 ชั่วโมง จะมีทักษะทางภาษาต่ำกว่า ใช้ภาษาได้น้อยกว่า บอกชื่อสิ่งของต่างๆ ได้ช้ากว่าเด็กที่อ่านหนังสือ ดร.จอห์น ฮุตตัน กุมารแพทย์ผู้ทำการวิจัยอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะในห้าปีแรกของชีวิตนั้นสมองพัฒนาเร็วมาก เด็กที่สมองได้รับการพัฒนาถูกทางในช่วงนี้ จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล จนเด็กที่ไม่ได้รับการพัฒนา จะตามไม่ทัน
ดังนั้น หลังโควิด การอ่านหนังสือจะเป็นเครื่องมือฟื้นฟูพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ดีที่สุด

แล้วอ่านอย่างไรจึงจะพัฒนาเด็กได้ดี

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การอ่านนิทานออกเสียงให้เด็กฟังนั้น ทำได้ตั้งแต่แรกเกิด เริ่มตั้งแต่พาเด็กร้องเพลงง่ายๆ เมื่อเด็กเริ่มพูดได้

  • เมื่อเด็กเริ่มนั่งได้ อุ้มมานั่งตัก อ่านช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ ชี้มือไปที่ตัวหนังสือที่อ่าน พลิกช้าๆ ชวนให้เด็กใช้นิ้วชี้ที่ภาพและออกเสียงตาม
  • การเลือกหนังสือค่อยๆ ขยายเรื่องจากใกล้ตัวออกไป และผู้ใหญ่ต้องไม่เบื่อ หากเด็กขอให้อ่านเรื่องเดิมซ้ำๆ ควรเอาตามที่เด็กชอบและสนใจ
  • การที่พ่อแม่ไม่สามารถทำเสียงเล็กเสียงน้อยให้น่าสนใจ ไม่ใช่ปัญหา การได้เห็นภาพและรู้ว่าสิ่งที่เห็นเรียกว่าอะไร เป็นการเรียนรู้ที่เด็กสนใจมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญเสริมว่า ไม่ว่าผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือให้เด็กฟังจะอ่านเก่ง / ไม่เก่ง มีลีลาอ่านแพรวพราว หรืออ่านแบบเรียบ ๆ หรือแม้แต่อ่านตะกุกตะกัก ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอแค่เอาลูกมานั่งตักแล้วอ่านออกเสียง เด็กก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่จำเป็นว่าจะต้องหาหนังสือที่สมบูรณ์แบบที่สุดมาอ่าน ขอแค่อ่านอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ก็เพียงพอ

หลังการอ่าน ควรชวนลูกคุยและตั้งคำถาม เพื่อทบทวนความจำและเสริมการคิดของลูก เช่น ถามว่ามีตัวอะไร หรือใครอยู่ในเรื่อง หนูชอบตัวละครตัวไหน เรื่องนี้เขาทำอะไรกัน เป็นต้น เมื่อเด็กโตขึ้น ลองตั้งคำถามท้าทายให้คิด เช่น หนูคิดว่าเขาทำอย่างนี้คนอื่นชอบไหม ถ้าเป็นหนูๆ จะทำแบบไหน คิดว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ฯลฯ ในบรรยากาศพูดคุยกันด้วยความสุข

รักการอ่าน ก่อนที่จะอ่านออก

หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ปรมาจารย์ผู้วางรากฐานการปฐมวัยศึกษาในประเทศไทย เคยกล่าวไว้ว่า  “ต้องช่วยให้เด็กรักการอ่าน  ก่อนที่จะให้พวกเขาอ่านออก”

ความเพลิดเพลินและความสุขที่ได้รับจากสัมผัสและเสียงของพ่อแม่ จะพัฒนาไปสู่การมีสมาธิ และใฝ่รู้ความสุขจากการนั่งตักพ่อแม่ ได้ฟังเสียงเห็นภาพ ตั้งแต่ยังไม่รู้ความ เป็นประสบการณ์แห่งความสุข ที่เปิดสมองแห่งการเรียนรู้ จากไม่เข้าใจเป็นเข้าใจ ความรู้สึกชอบการอ่านจะค่อยๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ยังอ่านไม่ออก เราไม่ต้องเร่งให้เด็กอ่านเอง ผู้ใหญ่ค่อยๆอ่านไปเรื่อย ๆ จะทำให้เด็กอยากอ่านเป็น อยากรู้เพิ่ม เมื่อคลังคำมากพอ เห็นมากพอ เด็กจะเริ่มอ่านได้เองแน่นอน
ความสุขที่ได้รับจากการอ่านเช่นนี้เอง จะทำให้เด็กรักการอ่าน ก่อนที่จะอ่านออก และเป็นความสุขที่จะช่วยเยียวยาภาวะเครียดและภาวะพัฒนาการถดถอยจากสถานการณ์โควิดอย่างได้ผล


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1) นพวรรณ ศรีวงศ์พานิช (บรรณาธิการ), (2557) การเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านการอ่านในเด็ก ปฐมวัย (Pre-reading skills), สถาบันราชานุกูล
2) Penn State Extension, (2020), Promoting Early Literacy and Fostering a Love For Reading, https://extension.psu.edu/programs/betterkidcare/news/promoting-early-literacy-and-fostering-a-love-for-reading สืบค้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565
3) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี