Learning Loss ของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย

ในช่วงโควิดโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กจำเป็นต้องปิดเป็นระยะเวลายาวนาน เด็กปฐมวัยต้องอยู่กับพ่อแม่ปู่ยาตายายที่ไม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้ อีกทั้งมากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นครอบครัวฐานะยากจน แม้แต่นิทานในบ้านก็แทบไม่มีอ่านให้ลูกฟัง ยิ่งกว่านั้น พบว่าความเครียดทำให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกน้อยลง แต่แก้ปัญหาด้วยการใช้มือถือดูแลลูกไม่ให้มากวน

การเรียนออนไลน์ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีส่วนร่วมน้อย เด็กจากครอบครัวยากจน เด็กในพื้นที่ห่างไกลมีปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้เด็กขาดแรงจูงใจ ขาดความกระตือรือร้น เด็กที่มีความต้องการพิเศษยิ่งมีปัญหา ในช่วงโควิดเด็กแต่ละคนได้รับผลกระทบมากเพียงไร ขึ้นอยู่กับคุณภาพของโรงเรียนและพ่อแม่ เมื่อเด็กกลับเข้าสู่โรงเรียนปกติ ก็พบได้ทั่วไปว่า พัฒนาการของเด็กถดถอย สิ่งที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ ไม่เล่นกับเพื่อน พูดไม่เป็นภาษา สมาธิสั้น ไม่อยากมาโรงเรียน และเด็กจำนวนหนึ่งมีอาการติดสื่อหน้าจอ

ภาวะ Learning Loss ในเด็กปฐมวัยที่เกิดขึ้นจึงเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการสำรวจความพร้อมในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ โดยใช้แบบทดสอบของยูเนสโกและยูนิเซฟวัดทักษะด้านสติปัญญาของเด็กอนุบาล 3 หลังเกิดโควิดระบาดหนัก พบว่าทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นสีแดง คือ เด็กปฐมวัยมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยอย่างชัดเจนหลังโรงเรียนปิดเป็นเวลานาน และมีจำนวนเด็กที่อยู่ท้ายแถวเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 30% ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่แล้วยิ่งถ่างเพิ่มขึ้นไปอีก

Learning Loss ไม่ใช่การเรียนรู้ทางด้านสติปัญญาเพียงอย่างเดียว

Learning Loss หรือการเรียนรู้ที่ถดถอยนั้น สำหรับเด็กประถมศึกษาให้ความสำคัญด้านสติปัญญา เรื่องการอ่าน เขียน และการคำนวณ แต่ในเด็กปฐมวัยซึ่งยังไม่ถึงวัยของการเร่งเรียนเขียนอ่านนั้น ทักษะทางสังคม หรือ Social – Emotional Learning: SEL เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กมากกว่า ทั้งนี้ รศ.ดร. วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า สุขภาพกาย สุขภาพจิต สภาวะอารมณ์ ล้วนส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กโดยทั้งสิ้น
ในงานวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่า การถดถอยด้านสติปัญญา อารมณ์- จิตใจ สุขภาวะทางกาย สังคมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของภาวะ Learning Loss ที่เด็กจะยิ่งถดถอยมากขึ้น ตามลำดับชั้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้น หากไม่แก้ตั้งแต่อนุบาล จะแก้ได้ยาก เด็กจะขาดทักษะความสามารถที่จะเรียนรู้ขั้นสูง กระทบต่อความสำเร็จในการเรียน และหากรอให้ถึงประถมศึกษาก็สายเสียแล้ว

การเรียนรู้ของปฐมวัย การพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคม

การพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคม หรือ Social – Emotional Learning :SEL เป็นกระบวนการที่เด็กเล็กจะได้เรียนรู้ เข้าใจ และจัดการอารมณ์ของตน เข้าใจ ยอมรับความคิดเห็นและแสดงความเห็นใจผู้อื่น สร้างและรักษาความสัมพันธ์ รับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตน ตั้งเป้าหมายและไปบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นทักษะของสมองส่วนหน้า EF ที่สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมและนิสัยที่เหมาะสม ที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนและชีวิต มีความสุขทั้งกับตนเองและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

การฟื้นฟูการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัยจึงไม่ใช่การเร่งเรียน  การพัฒนาทักษะอารมณ์และสังคมไม่ต้องสร้างขึ้นเป็นหลักสูตรเฉพาะ แต่เป็นการจัดการ โดยมีการประเมินภาวะถดถอยแต่ละด้าน คัดกรองเด็กเป็นรายบุคคล แล้วจัดการฟื้นฟูเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม เริ่มด้วยการที่ครูผู้สอนดูแลด้านอารมณ์ของเด็กก่อน ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นมากๆ ให้เด็กมีความสุข เบิกบาน ได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ปรับรูปแบบกิจกรรม สื่อการสอน  ยืดหยุ่นเนื้อหา ให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละคน จัดกระบวนการเรียนรู้เสริมเพิ่มเติมให้เด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละคน และต้องลดตัวชี้วัดทางวิชาการลง ให้เด็กที่มีภาวะถดถอยได้รับการฟื้นฟูอารมณ์จิตใจให้เป็นปกติก่อน

ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาต้องมีความเข้าใจ ส่งเสริมการจัดสภาพการเรียนรู้ที่เป็นมิตรปลอดภัยที่จะเรียนรู้ ให้เด็กเล็กได้เล่น ได้เคลื่อนไหวและทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้พัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ได้สะท้อนความรู้สึก ความคิดของตนเอง และฟังความรู้สึก ความคิดของคนอื่น และรับผิดชอบตนเองและสิ่งที่ตนทำ

ผู้บริหารต้องสร้างและหนุนการเชื่อมต่อระหว่างครูปฐมวัยและประถมศึกษาให้ทำงานร่วมกันในการส่งต่อและพัฒนาเด็ก ผู้บริหารต้องไม่อนุญาตให้มีการสอบวัดผลแบบประถมศึกษาในระดับปฐมวัย และผู้บริหารไม่เร่งนำเด็กปฐมวัยที่เพิ่งขึ้นชั้น ป.1 ไปสอบ RT- Reading Test เพราะจะเกิดการกดดันต่อไปลงที่ชั้นปฐมวัยได้

และที่สำคัญโรงเรียนต้องรายงานความก้าวหน้า สื่อสาร ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ว่าการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องเร่งเรียนเขียนอ่าน สร้างความร่วมมือร่วมกัน สานความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร แก้ปัญหา Learning Loss ตั้งแต่ปฐมวัย ก่อนจะยากเกินแก้


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง:
1)รายงานสถานการณ์ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในเด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID -19 ในประเทศไทย,ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า และคณะ,สาขาวิชาประถมศึกษา, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565
2) UNESCO, (2021), Learning losses from COVID-19 school closures could impoverish a whole generation, https://www.unesco.org/en/articles/learning-losses-covid-19-school-closures-could-impoverish-whole-generation, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565
3)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี