นักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กชี้ว่า สังคมสมัยใหม่มีภาวะขาดธรรมชาติ (NDD-Nature Deficit Disorder) มากขึ้น เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด โรงเรียนที่ต้องปิดเกือบ 2 ปี ทำให้เด็กขาดโอกาสเล่น และกิจกรรมทางกายก็ลดลงยาวนาน ทำให้เด็กรู้สึกอยากออกไปเล่นกลางแจ้งน้อยลง เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า “รากงอก” คือไม่ชอบเคลื่อนไหว ไม่ชอบออกแรง ชอบนั่งๆ นอนๆ เล่นเกม ดูมือถือ เด็กส่วนใหญ่ทุกวันนี้จึงกลายเป็น Indoor Generation คือเด็กรุ่นที่ไม่เล่นกลางแจ้ง ออกกำลังกายน้อย ซึ่งก็จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายอย่างในอนาคต เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น

ช่วง 2 ปีของโควิคยิ่งทำให้เด็กเครียดมากขึ้น จากการที่อุดอู้อยู่กับบ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ความเครียดที่สั่งสมยาวนานจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสมอง ทำให้วิตกกังวล ตื่นกลัวง่าย

ดังนั้น เพื่อฟื้นคืนความเป็นปกติสุขแก่เด็ก หนึ่งวิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดคือให้เด็กเล่นให้มากพอ

การเล่นให้ความสุข

การเล่นโดยเฉพาะที่ได้ออกแรง มีการเคลื่อนไหวทางร่างกายมากพอนั้นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน เด็กๆ จะเรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านการเล่น เช่น เล่นน้ำเล่นทรายก็จะเรียนรู้ธรรมชาติของน้ำ ของทรายว่า น้ำหรือทรายมีลักษณะอย่างไร เมื่อเทน้ำหรือก่อทราย ก็จะเรียนรู้ว่า เทน้ำแบบไหนจะเกิดผลอย่างไร ก่อทรายแบบไหนจะเกิดรูปร่างอย่างไร เด็กจะได้ฝึกทักษะสังเกต สำรวจ ทดลองทำแบบนั้นแบบนี้ตามความสนใจ เป็นต้น แต่ที่สำคัญทุกการเรียนรู้ผ่านการเล่นนั้น เด็กจะมีความสุข เวลาที่เด็กเล่นจนเพลิน เป็นสภาวะที่ร่างกายและจิตใจของเด็ก จดจ่อจนเหมือนเวลาจะหยุดนิ่ง เกิดเป็นสภาวะที่เราเรียกว่า “ไหลลื่น” (Flow) อันจะนำมาซึ่งความสุขความรื่นรมย์ พ่อแม่จึงควรชวนเด็กเล่นและให้เลือกเล่นตามความชอบ เพื่อเพลิดเพลินและมีความสุขในการเล่น
หากเด็กๆผ่านสถานการณ์ความเครียดมา การคลี่คลายที่ดีที่สุดคือการเล่น ที่จะช่วยระบายความเครียดออกไปจากจิตใจของเด็กได้โดยง่าย

การเล่นช่วยส่งเสริมทักษะสมองทุกด้าน

แท้ที่จริงการเล่นคือการทำงานและการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วน ใช้อวัยวะหลากหลายส่วน และได้พัฒนาทักษะสมองหรือที่เรียกว่า Executive Functions (EF) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงปฐมวัย และจะพัฒนากลายเป็นความคิดขั้นสูงที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อใช้ในการบริหารจัดการชีวิตในอนาคตข้างหน้าต่อไป ซึ่งทักษะที่ฝึกในช่วงวัยนี้ ได้แก่ :
-การฝึกความจำเพื่อใช้งาน เช่น จำกติกาและรูปแบบวิธีการเล่น
-ได้ฝึกกำกับตนเอง เช่น ไม่ละเมิดกติกา ไม่โมโหทะเลาะกับเพื่อน
-ได้ฝึกยืดหยุ่นเช่นปรับเปลี่ยนวิธีเล่นให้สนุก หรือให้เหมาะกับคนเล่นหรือสภาพแวดล้อม
-เด็กได้ฝึกสมาธิจดจ่อ
-ได้ควบคุมอารมณ์ ระหว่างเล่น กระแทกกระทั้นกันบ้างก็รู้จักอะลุ่มอล่วย เด็กจะได้ทักษะสังคมด้วย
-ริเริ่มลองหาวิธีเล่นแบบใหม่ๆ มาชวนกันเล่น
-วางแผนและจัดการการเล่น
-เด็กจะพยายามเล่นจนไปให้ถึงเป้าหมาย เช่น ถ้าเป็นการเล่นที่มีการแข่งขัน ก็จะพยายามต่อสู้เพื่อให้ชนะ

อย่าแทนที่การเล่นของเด็กด้วยสื่อดิจิทัล

สมัยนี้พ่อแม่มักจะกลัวเด็กเบื่อไม่มีอะไรทำ จึงยอมให้ลูกตั้งแต่ปฐมวัยใช้สื่อดิจิทัล ซึ่งเด็กจะอยู่นิ่งได้นาน ดูเหมือนมีสมาธิจดจ่อ แต่ถ้าให้ใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไป จะส่งผลร้ายตามมามากมาย เช่น เด็กจะหมกมุ่นอยู่กับมือถือ ถ้าไม่ได้เล่นจะโมโหหงุดหงิด ก้าวร้าว และเนื่องจากพูดสื่อสารกับคนน้อย อยู่แต่กับหน้าจอ ก็จะพูดไม่เป็นภาษาเหมือนภาษาต่างดาว
ดังนั้น หากเด็กเบื่อ แทนที่จะให้สื่อดิจิทัล พ่อแม่ลองปล่อยให้เด็กหาอะไรเล่นเอง แบบที่เรียกว่าเล่นอิสระ หรือ Free Play ซึ่งเด็กจะริเริ่มสร้างสรรค์การเล่นด้วยตนเองได้ กำหนดกติกาการเล่นเอง อาจพลิกแพลงจากวัสดุหรือสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งทุกการเล่นอิสระ ก็ล้วนเป็นเรื่องสนุกของเขาทั้งสิ้น

การเล่นช่วยสร้างสัมพันธภาพให้กับเด็ก

ในช่วงโควิดระบาด เด็กเล็กต้องใส่แมสก์ ไม่อาจเห็นใบหน้าและรูปปากของคนอื่น ทำให้คาดเดาอารมณ์ผู้ที่พูดด้วยไม่ได้ อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์- สังคม เกิดความไม่มั่นใจ และอาจมีพัฒนาการถดถอย เล่นกับเพื่อนไม่เป็น ขาดการเข้ากลุ่ม
หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จึงควรให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนมากๆ จะช่วยแก้ปัญหาและส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ได้ดี เพราะในการเล่น เด็กต้องสื่อสารพูดคุย มีโกรธกัน ดีกัน ได้ฝึกการรู้จักอารมณ์ของตนเองและเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสม รู้จักสังเกตอารมณ์คนอื่น และหาวิธีจัดการความสัมพันธ์ให้ดี ให้เล่นกันต่อไปได้ การเล่นยังสร้างเสียงหัวเราะร่วมกัน เกิดสัมพันธภาพอบอุ่น หรือเกิดความรู้สึกเป็นกลุ่มเป็นก้อนกับเพื่อนๆ เป็นการเริ่มต้นทักษะทางสังคมที่จะเกาะเกี่ยวกัน กลายเป็นสังคมที่มีสายใยความผูกพันกันต่อไป
เด็กที่เล่นในช่วงปฐมวัยมากพอ จะเป็นคนเข้ากับคนง่าย ไม่เก็บตัว และโตขึ้นจะรู้จักวางความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างเหมาะสม

พ่อแม่พึงตระหนักว่า การเล่นคือการเรียนรู้

ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า เด็กที่ใช้สื่อดิจิทัลก่อนวัยอันควร มีแนวโน้มสติปัญญาลดลง มีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น และพัฒนาการทางด้านภาษาช้าลง นอกจากนี้ การดูโทรทัศน์และการเล่นมือถือทำให้เด็กและพ่อแม่พูดจาสื่อสารกันน้อยลง มีรายงานว่าทุก 30 นาทีที่ใช้เวลากับมือถือ มีความเสี่ยงที่เด็กจะพูดช้าลง 2.3 เท่า

 การเล่นเป็นการเรียนรู้จากรูปธรรม ทุกครั้งที่ร่างกายเคลื่อนไหว ใช้มือเล่น ทำโน่นทำนี่ สมองได้สนุกกับการแก้ปัญหา ไม่ว่าเล่นดนตรี กีฬา ทำงานศิลปะ จะทำให้วงจรประสาทของเด็กเกิดการเชื่อมต่อกัน นอกจากช่วยให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เล่นมากขึ้น เกิดความคิด เกิดปัญญา มีการเรียนรู้และมีทักษะมากขึ้น การเล่นยังทำให้เด็กๆสะสมความสำเร็จ มีความมั่นใจในตนเอง เด็กที่ได้เล่นมากจะเชื่อ “ฝีมือ” ตนเอง ว่าทำอะไรได้แค่ไหน  

โปรดระลึกเสมอว่า การให้เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่และพอเพียงในทุกวัน หลังภาวะโควิด จะทำให้รอยยิ้มและความมีชีวิตชีวาของเด็กกลับคืน พร้อมๆ กับพัฒนาการทุกด้านฟื้นคืนกลับมา


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1)Anamaimedia, (2564) 3F เล่นเปลี่ยนโลก ให้การเล่น สร้างลูกให้เติบโตอย่างมีความสุข, https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/info211_covid19-2/ สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2565
2)Center on the Developing Child at Harvard University, Play in early childhood : The Role of Play in Any Setting, https://developingchild.harvard.edu/resources/play-in-early-childhood-the-role-of-play-in-any-setting/ สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565
3)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี