ทฤษฎีสมองสามส่วน (Triune Brain) เป็นทฤษฎีที่อธิบายให้เราเข้าใจถึงวิวัฒนาการของสมองมนุษย์ ว่าบทบาทหน้าที่ของสมองที่สำคัญแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ผู้นำเสนอ คือ นายแพทย์พอล แมคลีน (Paul MacLean) นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สมองของมนุษย์มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบใหญ่ๆที่มีบทบาทและหน้าที่ต่างกัน คือ

1. สมองส่วนสัญชาตญาณ (Brain Stem and Cerebellum) หรือบางครั้งเรียกว่า Reptilian Brain – สมองแบบสัตว์เลื้อยคลาน 
2. สมองส่วนกลาง (Limbic System) บางครั้งเรียกว่า Mammalian Brain – สมองแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
3. สมองส่วนหน้า (Neo Cortex) บางครั้งเรียกว่า Human Brain – สมองมนุษย์

สมองส่วนสัญชาตญาณเพื่อเอาตัวรอด; Fight or Flight or Freeze

สมองส่วนนี้ทำงานทันทีที่คลอดออกมาจากท้องแม่ เพื่อควบคุมระบบอัตโนมัติของร่างกาย (Autopilot) เช่น การเต้นของหัวใจ การหายใจ การทรงตัว อุณหภูมิในร่างกาย ระบบการย่อยอาหาร พฤติกรรมที่สมองส่วนนี้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะเป็นไปตามสัญชาตญาณ ใช้แรงขับตามธรรมชาติเพื่อเอาตัวรอด ด้วยการ สู้ (Fight) หนี (Flight) หรือนิ่งจำนน (Freeze) ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชั้นต่ำไปจนถึงสัตว์ชั้นสูง เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ล้วนมีสมองส่วน สัญชาตญานอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

สมองส่วนอารมณ์; ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ติดตัน ไม่คิดต่อ

เมื่อสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีสมองส่วนที่ขยายขึ้นมาเรียกว่า สมองส่วนอารมณ์หรือ สมองส่วนกลาง (Limbic System) ซึ่งมีศูนย์ความจำที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส คอยเก็บประสบการณ์ในอดีตไว้ในความทรงจำ เพื่อเรียนรู้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตน มีต่อมอะมิกดาลาคอยระวังภัย สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึก อารมณ์ที่เกี่ยวกับความอยู่รอด เช่น กลัว โกรธ ความสุขจากอาหารและเซ็กซ์ สิ่งใดที่กระตุ้นอารมณ์จะทำให้สมองส่วนนี้จดจำเป็นพิเศษ
สมองส่วนกลางทำให้เราใช้ชีวิตในแต่ละวันง่ายขึ้น ไม่เสียเวลาคิดในสิ่งที่ไม่จำเป็น กินอาหารที่ชอบ อยู่กับคนที่สบายใจ ในสถานที่คุ้นเคย กับความคิดความเชื่อที่คุ้นชิน แต่หากใช้สมองส่วนนี้มากโดยไม่ฝึกฝนสมองส่วนคิดหรือเหตุผลกำกับไปด้วย จะมีนิสัยเอาง่ายเข้าว่า ตีความสิ่งต่างๆ อ้างอิงจากสิ่งที่ตนเองชอบ คุ้นเคยเท่านั้น นำไปสู่ความหุนหันพลันแล่น เอาแต่ใจ หรือมีอคติ สมองส่วนนี้เมื่อแรกเกิดก็พัฒนาขึ้นแล้ว และจะสมบูรณ์เต็มที่ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นตอนต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสมองส่วนอารมณ์กับส่วนคิดก็คือ เมื่อเราเกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย สบายใจ สมองส่วนอารมณ์ก็จะเปิดให้สมองส่วนเหตุผลทำงาน สามารถประมวลผลความจำต่างๆในอดีต มาใช้ทำงานในสถานการณ์ปัจจุบันได้ดี แต่ถ้าสมองส่วนอารมณ์ไม่มีความสุข หงุดหงิด ทุกข์ใจ สมองส่วนคิดก็จะทำงานไม่ดีไปด้วย
นึกภาพง่ายๆก็ตอนที่เราอารมณ์ไม่ดี เราก็มักจะคิดอะไรไม่ออก ไม่พร้อมที่จะเรียนรู้นั่นเอง

สมองส่วนเหตุผล; คิด ไตร่ตรอง

เป็นสมองที่เรียกว่า Neocortex สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล วางแผน แก้ปัญหาซับซ้อน คิดสร้างสรรค์ และพัฒนาภาษา มีสมองส่วนหน้าบริเวณหลังกะโหลกหน้าผาก ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ ประมวลผลจากทุกส่วนในสมองแล้วก็นำมาตัดสินใจที่สมองส่วนหน้านี้ เรียกว่า Brain Executive Functions : EF ที่เปรียบเป็น CEO ของชีวิต คอยควบคุมการคิด อารมณ์ การกระทำผ่านการฝึกฝน จนกว่าสมองส่วน EF จะสมบูรณ์เต็มที่ในช่วง 25 – 26 ปี

ในแต่ละสถานการณ์ ส่วนไหนชนะ ขึ้นอยู่กับส่วนไหนถูกฝึกมาให้แข็งแรงกว่า

การทำงานของสมอง 3 ส่วนนั้น มีผู้เปรียบเทียบว่า เสมือน Battle in the Mind ในแต่ละสถานการณ์ที่เราเผชิญ สมองส่วนกลางที่เอาแต่อารมณ์ เอาความพึงพอใจเข้าว่า จะทำงานก่อน แล้วสมองส่วนหน้าที่คิดเหตุคิดผลและมุ่งสู่เป้าหมายที่ไกลกว่า ดีกว่า จึงทำงานตามหลัง สมองส่วนไหนแข็งแรงกว่าก็จะ “ชนะสงคราม” กล่าวคือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมของเราในเรื่องนั้นๆ คนที่ได้รับการฝึกฝนสมองส่วนหน้ามาอย่างดี มักจะสามารถใช้เหตุใช้ผลก่อนอารมณ์ได้ หรือใช้ความคิดเอาชนะความกลัวตามสัญชาตญาณได้

พ่อแม่รู้สมอง 3 ส่วน เพื่อเข้าใจการแสดงออกของสมองแต่ละส่วน และจัดการให้เกิดผลตามที่ควร

หลังสถานการณ์โควิด ที่ลูกหลานปฐมวัยของเราถูกจำกัดโอกาสในการพัฒนาทุกด้านตามปกติ ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่เจอเพื่อน ไม่ได้พัฒนาตามกิจกรรมของโรงเรียน และมักได้เล่นมือถือใกกว่าปกติ ซึ่งเราจะเห็นว่าพฤติกรรมของเด็กๆ ไม่เป็นไปตามที่ควร เช่น หงุดหงิด ก้าวร้าว เอาแต่ใจตัว ความเข้าใจเรื่องสมองสามส่วนนี้ จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติภายในซึ่งกำหนดพฤติกรรมที่แสดงออกมา เช่น ลูกก้าวร้าว นั้น เป็นเพราะสมองส่วนสัญชาตญาณกำลังกลัว ก็เลยต้องสู้เพื่อเอาตัวรอด หรือว่าที่ลูกโกหก เพราะกลัวถูกทำโทษที่ทำของเสีย ก็เลยเอาตัวรอดด้วยการโกหก ซึ่งหากเราเข้าใจ จะทำให้เราใจเย็นลง ไม่ด่วนลงโทษหนัก เมื่อเข้าใจว่าน่าจะมาจากสัญชาตญาณเอาตัวรอด เราก็ต้องทำให้เขามั่นใจว่า เราไม่ทำร้ายลงโทษ แต่เรากอด รับฟังเขาอย่างตั้งใจ พูดดีๆ เมื่อเขาสงบนิ่งไม่มีความกลัวแล้ว จึงค่อยพูดจา สอนให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไป
หรือหากอารมณ์ของลูกพุ่งสูงขึ้น โกรธมาก ไม่พอใจมาก ก็ไม่ด่วนหักล้างหรือปะทะหรือเอาแต่สั่งสอนใช้เหตุผล แต่ค่อยๆ ทำให้สมองส่วนอารมณ์นิ่งสงบลงก่อน ดังที่ ดร.ปิยวลี ธรเศรษฐกร นักการศึกษาแนววินัยเชิงบวก ที่แนะนำว่า “ปลอบก่อน สอนทีหลัง” เมื่อสมองส่วนอารมณ์สงบนิ่งแล้ว จะสอนให้เข้าใจเหตุผลใดๆ ก็ทำได้ไม่ยาก

หากเราต้องการให้ลูกๆ ของเราเป็นคนควบคุมตนเองได้ มีเหตุมีผล อดทนเป็น เราต้องสนใจให้ความรัก รับฟังความรู้สึกของเขา เติมเต็มส่วนสำคัญที่สมองส่วนกลางต้องการก่อน แล้วค่อยสอนให้รู้จักยั้งใจ ไตร่ตรอง ใช้เหตุผล เวลาที่อารมณ์ยังไม่สงบ ไม่ควรรีบเอาเหตุผล บังคับหรือลงโทษ เพราะเด็กจะยิ่งต่อต้าน หรือไม่ก็กลัวไปเลย
โปรดระลึกไว้เสมอว่า สมองส่วนหน้าที่คิด วิเคราะห์ได้ ควบคุมกำกับตนเองได้นั้น จะทำงานได้ดีเมื่อสมองส่วนกลางสงบลง


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1)Science of Psychotherapy, (2016), The Triune Brain, https://www.thescienceofpsychotherapy.com/ สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565
2)Wikipedia, Triune Brain, https://en.wikipedia.org/wiki/Triune_brain/ สืบค้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี