ปฐมวัยไม่ใช่แค่ ให้กิน ให้นอน…โตอีกหน่อยก่อน ค่อยใส่ใจ

ช่วงปฐมวัยหรือ 6 ปีแรกของชีวิตเป็นหน้าต่างแห่งโอกาส (Window of Opportunity) ที่สมองเด็กเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ธรรมชาติให้พัฒนาการเด็กวัย 0-2 ขวบ เรียนรู้ความผูกพันและไว้วางใจผู้อื่น เด็กในวัยนี้ต้องการแม่ (หรือผู้เลี้ยงดูหลัก) คอยดูแลเอาใจใส่ ตอบสนองความต้องการพื้นฐานในเรื่องกิน อยู่ หลับนอน อ้อมกอด เวลาและการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คุณภาพการเลี้ยงดูและปฏิสัมพันธ์ในช่วงนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์กับผู้อื่นไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ในวัย 0-3 ปี ยังเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่เด็กจะเรียนรู้ภาษาที่สองนอกจากภาษาแม่ได้อย่างรวดเร็ว
ระหว่างอายุ 3-5 ปี เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ ถูกผิด และการควบคุมอารมณ์ตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเริ่มสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ เช่น รู้จักแบ่งปัน เล่นแล้วเก็บของให้เรียบร้อย ไม่ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ไม่โกหก ไม่ทำลายข้าวของ และไม่เอาแต่ใจตนเอง หากไม่สอนในช่วงนี้ มาสอนตอนโตจะยากมาก การเลี้ยงเด็กปฐมวัยจึงไม่ใช่แค่ใส่ใจเรื่อง กิน นอน เท่านั้นก็พอ

ปฐมวัยคือช่วงวางรากฐานการมีตัวตนและการเห็นคุณค่าในตนเอง

พัฒนาการของเด็กเป็นไปตามลำดับขั้น มีความหมายว่าจะพัฒนาการขั้นต่อไปได้ต้องผ่านพัฒนาการขั้นแรกก่อนไปต่อ วัยเด็กจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในช่วงชีวิตของมนุษย์ในการวางรากฐาน พัฒนาพื้นอารมณ์ และจิตใจ เรียนรู้สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หากพื้นฐานดีจะสามารถส่งผลต่อเป็นพัฒนาการ การเจริญเติบโต และทักษะในด้านต่างๆ อันเป็นรากฐานในการก่อร่างสร้างชีวิตของคน ๆ หนึ่งให้ดียิ่งขึ้น
การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นรากฐานแรกที่เด็กเรียนรู้จากการได้รับความรัก การเอาใจใส่จากแม่หรือคนเลี้ยงดูหลัก เด็กเล็กรับรู้ได้ว่าตนเป็นที่รักหรือถูกทอดทิ้ง เป็นที่ใส่ใจหรือถูกละเลยจนสับสน ไม่มั่นคงจากความไม่เสมอต้นเสมอปลายของคนดูแล ความรู้สึกไว้วางใจโลกและคุณภาพของความผูกพันที่ได้รับจากประสบการณ์ จะสร้างการรับรู้ต่อตนเองแก่เด็กว่า ตนเป็นใคร เป็นที่รักละต้องการหรือไม่ อย่างไร ในโลกที่เกิดมา
การได้รับความรัก ได้เวลา และการเอาใจใส่จากแม่ (หรือคนเลี้ยงหลัก) อย่างเข้าใจในช่วงแรกของชีวิต จึงเป็นคุณค่าสำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งมีตัวตนขึ้นมา และนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเองต่อไป
ธรรมชาติให้สมรรถภาพทั้งทางร่างกาย สมอง แก่เด็กทุกคนที่จะเรียนรู้ และทำอะไรได้ด้วยตนเอง จากนอน เป็นพลิกคว่ำ คลาน เดิน วิ่ง ทำอะไรได้สารพัด การที่ผู้ใหญ่จัดสภาพแวดล้อม และให้โอกาสเด็กได้พึ่งตนเองตามพัฒนาการ และสามารถทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มรู้จักดูแลตนเอง กินข้าวเอง ถอดเสื้อผ้าเอง ถอดเสื้อผ้าแล้ว เอาเสื้อผ้าลงตะกร้า เล่นของเล่นแล้วเก็บของเล่นเอง แล้วขยายความสามารถไปสู่การช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเด็ดผัก กวาดบ้าน ทำงานบ้าน รวมทั้งทำเรื่องต่างๆที่ได้เล่น เรียนรู้ทั้งในที่บ้านและโรงเรียนสำเร็จ และมีคนชื่นชมในความพยายาม ล้วนเป็นประสบการณ์สำคัญที่สร้างให้เด็กเรียนรู้ถึงคุณค่าของตนเอง

ปฐมวัยคือช่วงที่สมองกำลังก่อร่างวางเสาเข็มของโครงสร้างสมอง

โครงสร้างของสมองที่มีเซลล์ประสาทอยู่ประมาณ 100,000 ล้านเซลล์ เกิดจากการที่เซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันเป็นวงจรเครือข่าย ในช่วงปฐมวัยเซลล์ประสาทมีความอ่อนตัวยืดหยุ่น สามารถเชื่อมต่อกันด้วยความเร็วสูงสุด ในช่วงนี้ประสบการณ์ที่เด็กคนหนึ่งได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ หู ตา จมูก ลิ้น สัมผัส จะถูกส่งไปตามเส้นใยประสาททำให้เกิดการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้อง ในประสิทธิภาพของความเร็วประมาณ 1,000,000 จุดต่อวินาที ทำให้โครงสร้างของวงจรประสาทตามที่ประสบการณ์ได้รับนั้นแข็งแรง นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการเล่นจึงเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กเล็กมากกว่าการนั่งเรียนเขียนอ่านในห้อง เพราะในการเล่นเด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนในสถานการณ์ที่หลากหลายและมีความสุข และในช่วงปฐมวัยนี้ ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions) ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของความสำเร็จในการเรียนรู้ขั้นสูง และเป็นทักษะการกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ มีอัตราการพัฒนาสูงสุดในช่วงอายุ 3- 5 ปี

โครงสร้างสมองก่อรูปเป็นบุคลิกภาพตลอดชีวิต

ด้วยเหตุที่ปฐมวัยเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการวางรากฐานด้านตัวตน โครงสร้างสมองส่วนหน้า และพัฒนาการทุกด้าน ดังกล่าวไปข้างต้น ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้น เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จึงถูกจำกัดโอกาสในการพัฒนาอย่างเป็นปกติตามธรรมชาติ ยาวนานกว่า 2 ปี ไม่ได้วิ่งเล่น (ขาดพัฒนาการด้านร่างกาย) ไม่ได้เล่นกับเพื่อน (ขาดพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม) ไม่ได้ทำกิจกรรมหลากหลาย นั่งเล่นแต่มือถือ (ขาดพัฒนาการทุกด้านรวมด้านสติปัญญา) บางคนถูกพ่อแม่ที่เครียดจากสถานการณ์ ลงโทษ ทำรุนแรง (ทำลายจิตใจ ตัวตน และขาดพัฒนาการด้านอารมณ์จิตใจ)
นั่นเท่ากับว่า รากฐานชีวิตของเด็กส่วนใหญ่ถูกกัดเซาะอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งหากไม่มีการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม อาจส่งผลถึงคุณภาพและพัฒนาการชีวิตในช่วงอื่นๆ ต่อไป จนยากจะแก้ไข
ดังนั้น แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายไป แต่รอยแผลเป็นที่ประทับในเนทางการพัฒนาของเด็กและคนอาจไม่จางหาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงแก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ แห่งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ว่า เปรียบเสมือนต้นกล้าที่กำลังเติบโต แต่เกิดภาวะแล้งจนขาดน้ำนานหลายเดือน ทำให้การเติบโตต้นกล้านั้นหยุดชะงัก แม้เมื่อภาวะแล้งหมดไป ฝนตกกลับมาใหม่ ต้นกล้านั้นก็อาจเติบโตได้ แต่เป็นไปอย่างแคระแกร็น เด็กปฐมวัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาก็เช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ การที่จะพัฒนาเด็กปฐมวัยของเรา ให้กลับมามีฐานรากชีวิตที่แข็งแกร่งดังที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองและครูปฐมวัยซึ่งใกล้ชิดกับเด็กที่สุด จะต้องลงแรง ศึกษาสังเกตเด็กอย่างจริงจังเป็นรายบุคคลว่า เด็กคนใดได้รับผลกระทบในระดับใด และหาทางฟื้นฟู แก้ไข หรือเยียวยาอย่างถูกวิธี ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง;
1) คุณภาพชีวิตและสังคม (2563), ทำความรู้จัก EF + SELF ทักษะสำคัญของเด็กปฐมวัย, กรุงเทพธุรกิจ,
www.bangkokbiznew.com/social/900854 สืบค้นวันที่ 10 ตุลาคม 2565
2) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี