ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าอีกคนหนึ่ง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์เด็กชื่อดังได้ชี้ว่า มีบันไดพัฒนาการแต่ละขั้นที่เด็กทุกคนต้องพัฒนาถึง 7 ขั้นให้ผ่านไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ การสร้างแม่, การสร้างสายสัมพันธ์, การสร้างตัวตน(Self), การเห็นคุณค่าตนเอง เชื่อมั่นว่าตนสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองและเป็นที่รัก, การควบคุมตนเอง, การพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ที่ฝึกให้รู้จักกำหนดเป้าหมายของตนเองได้ รู้จักวางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำ, ซึ่งจาก 6 ขั้นแรกจะเป็นฐานรากนำไปสู่การพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ในเด็กได้อย่าง สวยงาม
บันไดพัฒนาการแต่ละขั้นเป็นฐานที่สำคัญของบันไดขั้นถัดไป ยิ่งฐานแข็งแรง เด็กยิ่งไปได้ดี พัฒนาการขั้นต้นไม่ดีไม่แข็งแรงก็ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการต่อไปรากฐานพัฒนาการทั้ง 7 ขั้นดังกล่าว พ่อแม่มีบทบาทเป็นผู้ประคับประคองคนสำคัญที่สุดของลูก รวมทั้งเป็นเบ้าหลอมชีวิตให้ลูก ว่าจะเติบโตไปเป็นคนแบบไหน
ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนมีความพร้อมและมีความรู้
ความรักลูกนั้นเป็นสัญชาตญาณ แต่ทักษะในการเลี้ยงลูก…ไม่ใช่ ดังนั้น “การเป็นพ่อแม่คุณภาพ”เพื่อ “สร้างเด็กคุณภาพ” เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะ
ในขณะที่พ่อแม่ (โดยเฉพาะแม่) เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีวิตของเด็กคนหนึ่ง แต่กลับพบว่าปัจจุบันพ่อแม่กว่าครึ่งไม่ได้เลี้ยงลูกเอง ผู้หญิงไทยที่เป็นแม่ 70-80 % ทำงานนอกบ้าน ร่วมหารายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ดูแลลูกอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งรัฐไม่มีโรงเรียนเตรียมความพร้อมพ่อแม่และครอบครัวในเรื่องการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะช่วงเลี้ยงลูกเล็กซึ่งเป็นปฐมวัยรากฐานของชีวิต ภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ถูกนำมาใช้จากการที่ครอบครัวแยกกันออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยว และสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จนภูมิปัญญาเดิมหลายอย่างถูกลืมเลือน หรือไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป พ่อแม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีซึ่งเป็นพ่อแม่กลุ่มใหญ่ที่สุด ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำไม่มีทั้งความพร้อมและความรู้ในการเลี้ยงลูก
เด็กจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ในมือของปู่ยาตายาย ซึ่งแม้จะมีทักษะการเลี้ยงเด็กมาก่อน แต่ความเข้าใจต่อโลกสมัยใหม่ และความรู้ด้านพัฒนาการ จิตใจ สมอง ตามบริบทสมัยใหม่ก็อาจจะไม่เพียงพอ
ให้ความรู้เรื่องการพัฒนาเด็กแก่พ่อแม่สม่ำเสมอ
จากสภาพการณ์และข้อจำกัดหลายอย่างดังที่กล่าวมา จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับพ่อแม่และครอบครัว ต้องเร่งให้ความรู้เรื่องพัฒนาเด็กแก่พ่อแม่ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับครอบครัวและชุมชน เช่น องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น รพสต. อสม. และ อพม. รวมทั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวที่มีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ ให้พ่อแม่มีความรู้ ความเข้าใจฐานราก 3 มิติของการพัฒนาเด็ก คือ
- พัฒนาการ 4 ด้านตามวัย ทั้งการพัฒนาทางร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคมและสติปัญญา
- พัฒนาการด้านตัวตน (Self)
- พัฒนาการทักษะสมองส่วนหน้า (EF)
เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครอง มีเข้าใจธรรมชาติตามวัย สามารถพัฒนาตัวตนขึ้นมาเป็นคนที่เห็นคุณค่าตนเอง และมีพลังไปตลอดชีวิต รวมทั้งสามารถพัฒนากระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า เพื่อช่วยส่งเสริมให้ลูกปฐมวัยมีพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่ดี วิธีการที่พ่อแม่และคนในครอบครัวทุกคนสามารถทำได้ง่าย เช่น
“กิน” ให้ใส่ใจเรื่องโภชนาการ และพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมของลูก เช่น ตักอาหารกินเอง กินหลากหลาย นั่งกินที่โต๊ะอาหารพร้อมผู้ใหญ่ เป็นต้น
“นอน” ให้มีเวลานอนที่เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง เพื่อให้สมองของเด็กปฐมวัยมีคุณภาพ เพราะในช่วงเวลานอน สมองจะจัดระเบียบข้อมูล เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานในช่วงตื่นได้ดีขึ้น
“กอด” ให้เลี้ยงดูด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ไม่ใช้ความรุนแรง แสดงความรักกับลูกสม่ำเสมอด้วยการกอด ชื่นชมเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ตอบสนองเด็กอย่างเหมาะสมแต่ไม่ตามใจในสิ่งที่ไม่ควร เพื่อให้เด็กรู้สึกเป็นที่รัก มีตัวตนซึ่งจะเป็นฐานที่เข้มแข็งของจิตใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายหน้า
“เล่น” ให้เด็กปฐมวัยได้เล่นมากพอ เพราะการเล่นคือการเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กได้ออกกำลังกายเคลื่อนไหว ได้เล่นหลากหลาย ฝึกการใช้ร่างกายทุกส่วน การเล่นจะช่วยเพิ่มพัฒนาการทุกด้าน
“เล่า” พ่อแม่หมั่นพูดคุยสนทนากับลูก เล่านิทานและอ่านหนังสือให้ลูก อย่างน้อยก่อนนอนทุกคืนต้องมีหนังสืออ่านในบ้านเพื่อให้เด็กฝึกจินตนาการ คิดวิเคราะห์และพัฒนาภาษา
“ฝึกช่วยเหลือตนเอง” เด็กควรได้รับการฝึกให้ช่วยเหลือตนเองได้ตามวัย เช่น 3 ขวบติดกระดุมเสื้อ สวมเสื้อผ้า ถุงเท้ารองเท้า ฯลฯ และเพิ่มความรับผิดชอบตนเองมากขึ้นตามวัย เพื่อความภาคภูมิใจในตนเองและเป็นการฝึกวินัย ฝึกความอดทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในวันหน้า
“ฝึกทำงานบ้าน” ให้มีประสบการณ์ทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมกับภาระในครอบครัว ไม่ว่าจะงานบ้าน งานครัว งานสวน ตามบริบทของแต่ละครอบครัว เพื่อให้เด็กเกิดสำนึกคุ้นเคยกับการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน เป็นต้น
พ่อแม่ผู้ปกครองควรได้เรียนรู้หลักการเหล่านี้ และช่วยกันประคับประคอง ค่อย ๆ ให้เด็กมีความสามารถในการกำกับตนเอง ทั้งอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
ทั้งนี้โดยทำให้ความรู้และเทคนิควิธีการต่างๆ เป็นเรื่องทำได้ง่าย ๆ ที่สามารถเอาไปใช้ได้และแก้ปัญหาเด็กได้จริง ที่พ่อแม่ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ควรจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันในชุมชนทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ให้กำลังใจ สนับสนุนกัน จะทำให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น ไม่รู้สึกกดดันและลำบากจนเกินไปในสภาพสังคมที่บีบรัดในทุกทาง
ชวนพ่อแม่ตั้งสติ สร้างชีวิตสมดุล
งานเลี้ยงลูกเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ทุกคน ให้ทั้งความสุข และมีความรับผิดชอบที่เหนื่อยและยาก ยิ่งสมัยนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานกันทั้งสองคน ครอบครัวมีขนาดเล็กลง สภาพเศรษฐกิจและสังคมกดดันทุกคนให้มีชีวิตที่เร่งรัด เคร่งเครียด อยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างไม่รอใคร การเลี้ยงลูกให้ได้ดีจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
ในยุคการเปลี่ยนผ่านที่ความผันผวนเกิดขึ้นเป็นวินาที ราวพายุที่ไม่เคยหยุดหมุนเช่นนี้ การจะประคับประคองลูกให้เติบใหญ่ พึ่งตนเองได้ ประสบความสำเร็จ และมีความสุขทั้งภายในตนและอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น พ่อแม่ต้องฝึกทักษะที่จะตั้งสติ ถอยออกมามองภาพรวม เท่าทันสมองส่วนกลางที่ใช้อารมณ์ความชอบตัดสินปัญหา เปลี่ยนมาใช้ทักษะสมองส่วนหน้าคิดไตร่ตรอง ตัดสินใจในแต่ละเรื่องอย่างมีสติ หาความสมดุลที่พอเหมาะพอสมกับสภาพของตน ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีเป้าหมาย ผิดบ้างถูกบ้างเรียนรู้ไป สรุปบทเรียนด้วยตนเอง และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพ่อแม่คนอื่นๆ
การวางเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน เรียนรู้ต่อเนื่อง มีสติและหมั่นจัดชีวิตให้สมดุล จะช่วยให้พ่อแม่จัดการชีวิตและเลี้ยงดูลูกไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ดีขึ้น
ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง
อ้างอิง :
1)สถาบัน RLG (รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป), (2021), 7 วิธีพัฒนาลูกสมวัย สมองดีมี EF : เครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการ
ทักษะสมอง EF สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย, www.rlg-ef.com สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566
2)Tracy Trautner, (2019), The Importance 0f Parent Education, Michigan State University Extension, https://www.canr.msu.edu/news/the-importance-of-parent-education, สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566
3)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา