พ่อแม่ต้องใจแข็ง คิดถึงผลเสียในวันข้างหน้า

ปัญหาติดมือถือของเด็กเล็กกลายเป็นปัญหาหนักอกของครอบครัวจำนวนมาก ปัญหานี้ต้องแก้ที่ผู้ใหญ่ ให้เข้าใจ ตระหนักถึงผลได้ผลเสียที่เกิดกับเด็ก เท่าทันกระแสสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เข้าใจและมีทักษะการเลี้ยงลูกเชิงบวกที่ตอบสนองลูกด้วยความรักเอาใจใส่ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูก สื่อสารกับลูกเชิงบวก ให้กำลังใจ ชื่นชมความพยายามเมื่อลูกทำอะไรสำเร็จ ไม่เอาแต่ดุด่า ว่าตี ส่งเสริมให้เด็กได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองจนสำเร็จตามพัฒนาการของวัย ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง
…ทำอย่างนี้จึงจะสามารถจัดการไม่ให้ลูกเล่นมือถือได้
พ่อแม่ต้องเชื่อมั่นในตนเองว่า ตน คือ คนที่สำคัญที่สุดของลูก แท้ที่จริงลูกรักและต้องการเรามากที่สุด ตัวเรานี่แหละที่จะเป็นคนที่ผลักลูกให้ไปใช้มือถือ ติดมือถือมากขึ้นก็ได้ หรือเป็นคนที่ดึงลูกออกมาจากหน้าจอใสก็ได้
ดังนั้น ควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการเห็นลูกเป็นอย่างไร คิดถึงผลเสียที่จะเกิดกับลูกในวันข้างหน้าที่จะหนักหนากว่าที่เห็นในวันนี้ แล้วลงทุน วางแผนจัดการ ปรับเปลี่ยนตนเอง ให้เวลาและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูก
โอกาสที่ลูกติดมือถือก็จะลดลงได้

กิจกรรมการเล่นที่สนุก น่าสนใจมากมาย ทดแทนได้

เด็กเล็กใช้เวลาไม่กี่ปีก็โต เวลาที่ลูกยังเล็กเป็นเวลาที่ลูกต้องการเรามากที่สุด พ่อแม่ต้องยอมเสียสละเวลาในช่วงนี้ ทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก มีกิจกรรมมากมายที่ทำร่วมกันได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สร้างความสุขและความรื่นรมย์ในบ้าน ไปพร้อมๆกับการสร้างเด็กคนหนึ่งขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ เช่น คุยกับลูก ชี้ชวนให้ลูกรู้จักชื่อ เรียกสิ่งต่างๆรอบบ้านได้ รู้ว่าของแต่ละอย่างทำอย่างไร ตอบคำถามที่เด็กเล็กต้องการความกระจ่างมากมาย เล่าเรื่องของตัวเองเมื่อยังเด็กให้ลูกฟัง เพิ่มคลังคำให้ลูกสนุกที่จะเรียนรู้ ร้องเพลงง่ายๆด้วยกัน หยอกล้อกันให้ได้หัวเราะ ให้ลูกฝึกดูแลตนเอง สอนลูกให้ได้หัดอาบน้ำเอง แปรงฟันเอง ทำงานบ้านง่ายๆ ให้เรื่องต่างๆกลายเป็นการเล่นที่สนุกและน่าเรียนรู้ ทำได้แล้วยังภาคภูมิใจ ไปจนถึงพากันไป เดินเล่น วิ่งเล่น ไล่จับ ไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้าน ทำงานศิลปะ ฯลฯ
อะไรก็ได้ที่ทำให้เด็กยุ่ง ได้ใช้มือไม้ ร่างกายทำงานเคลื่อนไหว และเล่นสนุก
ทุกสิ่งรอบบ้านและรอบตัว เป็นสิ่งแปลกใหม่ น่าเรียนรู้ น่าเล่นสำหรับมนุษย์น้อยๆ ที่เพิ่งรู้จักโลกรอบตัว ขอเพียงแต่พ่อแม่และผู้ใหญ่ยอมให้เวลา ทุกอย่างที่พ่อแม่ชี้ชวนทำ ใจเย็น ค่อยบอกไปสอนไปในบรรยากาศที่สนุก ผ่อนคลาย จะสามารถทดแทนมือถือได้อย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่เด็กจะมีความสุข รักและเชื่อฟังพ่อแม่ พ่อแม่ก็มีความสุข รักและผูกพันกับลูกมากขึ้นด้วย

อ่านหนังสือกับลูกทุกวัน ใกล้ชิดให้ความอบอุ่นก็ช่วยลดการติดมือถือได้

โควิดยาวนานทำให้เด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย เพราะใช้มือถือมากขึ้นด้วย หนังสือเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพที่ช่วยพ่อแม่ดึงเด็กออกมาจากหน้าจอใสได้ การอ่านหนังสือกับลูกเป็นประจำทุกวันในเวลาเดิม สร้างเวลาแห่งความสุขที่ลูกรอคอยจะได้อยู่ในอ้อมแขนอบอุ่นของพ่อแม่ ได้ผจญภัยไปในโลกจินตนาการที่ไม่รู้จักด้วยกัน ได้รู้จักคำใหม่ๆ ได้อ่านภาพ ได้รู้จักตัวอักษร ได้ตื่นตาตื่นกับสัญลักษณ์ที่มีมากกว่าในชีวิตประจำวัน การอ่านหนังสือสำหรับเด็กเป็นการเรียนรู้ในจังหวะที่ไม่เร็วเกินไป อยากหยุด อยากถาม อยากอ่านซ้ำ หยิบหนังสือพลิกหน้าพลิกหลัง ทำได้ตามใจต้องการ มีกลิ่น มีเสียง มีภาพ สัมผัส สร้างความจดจำและเข้าใจเรื่องได้ดีกว่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการอ่านหนังสือด้วยกัน คือ พ่อแม่มีชีวิตอยู่กับลูกจริงๆ ให้เวลา สร้างการเรียนรู้ สานความรักความผูกพัน เมื่อเด็กเล็กได้ปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่อย่างจริงจัง มือถือก็ไม่มีความหมายสำหรับเด็กเล็กเลย

พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่าง

พ่อแม่ไม่ควรรอจนลูกติดมือถือ ชุมชนไม่ควรละเลยปล่อยให้ปัญหาเด็กติดมือถือกลายเป็นปัญหาของครอบครัว จนกลายเป็นปัญหาของสังคม ต้องร่วมกันหาทางหนุนช่วยพ่อแม่ให้ดึงมือถือออกจากเด็กปฐมวัยให้ได้ แต่คนที่สำคัญที่สุด ยังคงเป็นพ่อแม่ พ่อแม่ต้องตั้งใจเด็ดเดี่ยว คิดถึงอนาคตข้างหน้าของลูกให้มาก เป็นแบบอย่างใช้มือถือให้น้อยลง ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง หรือติดตามข่าวสาร เป็นแบบอย่างให้ลูกใช้สื่อดิจิทัลอย่างพอเหมาะพอดี

พ่อแม่ต้องวางกฎและกำกับกติกาการใช้สื่อมือถือในบ้านให้จริงจังขึ้นมา กำหนดเวลาใช้ เนื้อหาที่เข้าไปดู ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบใช้มือถือเด็ดขาด อายุ 3-6 ขวบใช้ได้บ้างโดยพ่อแม่กำกับเวลา อนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ตเมื่อ 6 ขวบขึ้นไป และใช้เครือข่ายสังคมเมื่ออายุ 13 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ต้องวางกฎ ไม่ใช้สื่อทุกชนิดหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน เป็นต้น

สภาพแวดล้อมใหม่ในบ้านต้องจัดสรรให้ในห้องนอนไม่มีอุปกรณ์สื่อสารหรือโทรทัศน์ เพิ่มธรรมชาติเข้ามาในบ้าน  เติม “สื่อเย็น” หนังสือ นิทาน ตัวต่อบล็อก สมุดวาดภาพระบายสี​ ทดแทนสื่อดิจิทัล พาลูกออกจากโลกเสมือนจริงสู่โลกของความจริง เพียงเท่านี้เจ้าตัวน้อยก็ยากจะเรียกหามือถืออีก


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง:
1)ธาม เชื้อสถาปนศิริ, (2564), สถานการณ์การใช้สื่อจอใสในเด็กปฐมวัย : แนวทางและนวัตกรรมในการฟื้นฟู มุมมองด้านสื่อ อินเตอร์เน็ตและนวัตกรรม, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัย มหิดล
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี

Avatar