ทุกประสบการณ์ ส่งผลต่อการก่อรูปของโครงข่ายเส้นใยประสาทในสมอง
ความเข้าใจธรรมชาติและกลไกการทำงานของสมองที่ก้าวหน้าอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 21 ทำให้เราเข้าใจการก่อรูปของสมองในช่วงปฐมวัยชัดเจนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เทคโนโลยีทำให้เราค้นพบว่า ประสบการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิตผ่านสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ หู ตา จมูก ลิ้นและผิวกาย กลไกของระบบประสาทจะนำข้อมูลที่ประสบการณ์รับเข้ามา ส่งไปที่สมองซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของร่างกาย ทำให้เกิดการส่งต่อข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้องกันในสมอง ผ่านช่องว่างที่เรียกว่าไซแนปส์ (Synapse) เกิดเป็นโครงข่าย วงจรการเรียนรู้ และการสั่งการที่นำไปสู่พฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ยิ่งฝึกฝนสิ่งใดซ้ำๆ สมองจะคล่องแคล่วว่องไว
ความรู้ประสาทวิทยาศาสตร์สมัยใหม่บอกเราว่า ประสบการณ์ที่ได้รับซ้ำๆต่อเนื่อง จะสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้วงจรที่มีการเชื่อมต่อกัน หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ แข็งแรงขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อที่ได้รับการฝึกฝน สมองที่ได้รับการฝึกฝนเสมอจะมีความคล่องแคล่วว่องไว ทั้งนี้ช่วง ทั้งนี้ช่วงชีวิตที่การเชื่อมต่อของเซลล์สมองมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวดเร็วที่สุดอยู่ในช่วงชีวิตปฐมวัย ตั้งแต่ 0-6 ปี ที่จะมีการเชื่อมต่อกันระหว่างเซลล์ประสาทผ่านไซแนปส์มากถึง 1,000,000 จุดใน 1 วินาที ยิ่งเกิดการเชื่อมต่อมากเท่าใด โครงข่ายประสาทในเรื่องนั้นยิ่งหนาแน่น แข็งแรงเท่านั้น
ความฉลาดของคนไม่ได้อยู่ที่ขนาดของสมอง แต่อยู่ที่เซลล์สมองมีการเชื่อมต่อกัน ยิ่งเชื่อมต่อกันมาก สมองยิ่งทำงานได้ดี
ดังนั้น หลักการพื้นฐานของการเรียนรู้ การก่อรูปพฤติกรรม ที่กลายเป็นนิสัยและบุคลิกภาพที่ดีนั้น คือ “ประสบการณ์คุณภาพเชิงบวก” ที่เด็กได้รับ ยิ่งมาก ยิ่งดี และการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ปลอกไมอิลีน (Myelin sheath) ซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้าหุ้มเซลล์ประสาทหนาขึ้น ทำให้กระแสประสาทผ่านไปได้เร็วขึ้น สมองยิ่งทำงานได้ว่องไวขึ้น
ทักษะสมองส่วนหน้า (EF – Executive Functions)คือศูนย์บัญชาการชีวิต
สมองมีหลายส่วนทำงานประสานกันอย่างซับซ้อน โดยแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันไป และมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ สิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ทุกประเภทที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาจากสัตว์เซลล์เดียว ล้วนมีก้านสมองซึ่งทำหน้าที่ในการกำกับการทำงานในระบบอัตโนมัติหลักของร่างกายเพื่อให้มีชีวิตรอด ตั้งแต่ ระบบหายใจ ระบบสืบพันธุ์ อุณหภูมิในร่างกาย เป็นต้น
สมองส่วนกลางได้วิวัฒนาการขึ้นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีฮอร์โมนความผูกพันที่เกิดขึ้นจากการให้นมลูก สมองส่วนนี้มีระบบความจำ และทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ เป้าหมายอยู่ที่ความพึงพอใจโดยเฉพาะความพึงพอใจในความสุขเฉพาะหน้า
ขณะเดียวกันมีสมองส่วนที่เกิดขึ้นมาหลังสุด คือสมองส่วนหน้า ทำให้มนุษย์มีความสามารถในระดับที่สูงขึ้น ในการเรียนรู้ภาษา คิดเหตุผล วางแผน สมองส่วนนี้ทำให้มนุษย์ซึ่งมีเนื้อสมองส่วนหน้ามากกว่าสัตว์ชนิดใด พัฒนาศักยภาพได้สูงสุด ในการกำกับอารมณ์ ความคิด การกระทำเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
สมองส่วนหน้าบริเวณหลังหน้าผาก ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการชีวิต ที่ดึงเอาความทรงจำจากประสบการณ์เดิมมาใช้ในสถานการณ์ใหม่ หากสมองส่วนนี้ได้รับการส่งเสริมพัฒนา จะสร้างโครงข่ายประสาทที่แข็งแรง และจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่มีความยั้งคิด ไตร่ตรอง ยืดหยุ่นเป็น มีสมาธิ ควบคุมกำกับอารมณ์ของตนได้ ประเมินตนเอง ริเริ่มทำสิ่งต่างๆ โดยไม่มีใครต้องบังคับให้ทำ วางแผนดำเนินงานและมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
แต่หากสมองส่วนนี้อ่อนแอ สมองส่วนกลางที่แข็งแรงกว่า ก็จะใช้อารมณ์ให้ความชอบ ความสบายเป็นใหญ่ จะมีบทบาทสำคัญในการบัญชาการการกระทำต่างๆ แทน
ส่งเสริม EF เพื่อสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีตลอดชีวิต
ทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เราเรียกทับศัพท์กันง่ายๆว่า EF – Executive Functions ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการชีวิต แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามาในทุกวันของชีวิต จนกลายเป็นนิสัย และเป็นคุณลักษณะของคนๆ หนึ่ง เด็กทุกคนจึงต้องได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ส่งเสริม EF ตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มจากวางรากฐานความผูกพันไว้ใจให้ทารกสร้าง Self (ตัวตน) ขึ้นมา
ในทางกายภาพ สมองควรได้รับการพัฒนาผ่านอาหารครบหมู่ ที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญที่สุด คือได้นมแม่ไปสร้างปลอกไมอิลีนซึ่งเป็นปลอกหุ้มเซลล์ประสาทให้แข็งแรง มีประสิทธิภาพส่งต่อข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาทได้เร็วและดี สมองควรมีช่วงของการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ในเด็กเล็กคืนหนึ่งควรนอนมากกว่า 10 ชั่วโมง และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เพียงช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่สมองก็จะเบิกบานแจ่มใสและว่องไวไปด้วย
EF ของเด็กจะดีได้ ต้องส่งเสริมให้เด็กได้อยู่กับผู้อื่น เรียนรู้สังคม และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ต่างไปจากตัวเอง ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ ของสมองส่วนหน้า
สภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย บรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตรต่ออารมณ์และจิตใจ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการคิดและการใช้ทักษะต่างๆ ล้วนส่งเสริมให้สมองส่วนหน้าได้ฝึกฝน และที่สำคัญที่สุด คือการเรียนแบบ Active Learning ที่สร้างประสบการณ์ให้เด็กได้สังเกต สะท้อนสิ่งที่เห็นและความรู้สึก ได้คิด ตัดสินใจ เลือก ลงมือทำด้วยตนเอง ได้ทำงานกับเพื่อน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน คือการส่งเสริม EF
การเรียนรู้และการลงมือทำที่ฝึกฝนเป็นประจำ ทำให้ทักษะสมองส่วนหน้า (EF-Executive Functions) ที่กำกับอารมณ์ ความคิดและการกระทำต่างๆ ได้ด้วยตนเอง พาเด็กตัวเล็กๆเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้เป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมีความสุขเป็น กลายเป็นนิสัยติดตัวไปจนโตและเป็นคุณลักษณะที่ดีไปตลอดชีวิตได้
การเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กให้เข้าใจธรรมชาติสมองที่ก่อรูปในช่วงปฐมวัย จึงเป็นเรื่องที่ต้องจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเด็กไทยของเรา
หลังโควิด EF ของเด็กลดลง เพราะประสบการณ์ที่เหมาะสมตามวัยถูกจำกัด
ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ ชลไชยะ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยในช่วงโควิดพบว่า สถานการณ์ในช่วงโควิดที่เด็กปฐมวัยถูกจำกัดกิจกรรมนอกบ้าน เหลือเพียงนั่งเล่นมือถือในบ้าน ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกันนั้น ทักษะสมอง EF ของเด็กลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูทักษะสมอง EF ของเด็กปฐมวัย พ่อแม่ผู้ปกครองควรจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ให้เด็กปฐมวัยได้ฝึกคิด แก้ปัญหา ได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยนิ้วมือทั้งสิบ
ประการแรก ต้องเพิ่มการเล่นให้เด็ก โดยเฉพาะการได้เล่นกับเพื่อน เช่น เล่นทรายเล่นน้ำ เล่นเกมการศึกษา เล่นปั้นแป้ง เล่นไล่จับ เล่นอิสระที่คิดออกแบบวางแผนการเล่นกันเอง ยิ่งได้เล่นมากเท่าใด เด็กก็จะได้ฟื้นการฝึกฝนสมอง EF ได้มากขึ้นเท่านั้น
ประการที่สอง เพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น วิ่งไล่จับ ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เล่นเทควันโด เป็นต้น เพื่อให้สมองได้รับออกซิเจนเพียงพอ หลังจากที่ต้องสวมแมสก์มายาวนานกว่า 2 ปี และเพื่อให้กล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อต่างๆ ของร่างกายได้เคลื่อนไหว
ประการที่สาม เพิ่มการอ่านนิทานภาพเป็นประจำก่อนนอนทุกคืน เพื่อได้คิด ฝัน จินตนาการเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้พูดคุยกับพ่อแม่ เพิ่มคลังคำศัพท์ พัฒนาภาษาให้มากพอ ประการสำคัญที่สุด เป็นที่ยอมรับกันว่า ช่วงโควิดผู้ใหญ่ยื่นมือถือให้เด็กได้เล่นเกือบตลอดเวลา เพื่อให้เด็กอยู่นิ่ง ผู้ใหญ่จะได้มีเวลาทำงาน ดังนั้น หลังโควิด หากพ่อแม่ผู้ปกครองเพิ่มกิจกรรมข้างต้น ทำให้สนุกสนานน่าสนใจ เด็กๆ ก็จะลดการใช้มือถือไปได้โดยปริยาย
ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง
อ้างอิง:
1) สุภาวดี หาญเมธี(บรรณาธิการ), (2561), คู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF Executive Functions สำหรับครูปฐมวัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน RLG (รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป), กรุงเทพฯ
2) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา