เลี้ยงลูกไปทางเดียวกัน

ชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ มีพัฒนาการด้านต่างๆ สมวัย มีความเข้าใจตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง และเรียนรู้ได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับคนสำคัญรอบข้างที่ดูแลเอาใจใส่ ประกอบด้วย พ่อแม่ ครอบครัว และครูโดยเฉพาะครูปฐมวัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อแม่คนที่สองในช่วงกลางวันที่เด็กอยู่โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ครูทำทั้งหน้าที่ในการดูแล จัดหาอาหาร ดูแลความสะอาด จัดกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ฝึกให้เด็กดูแลตัวเอง เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น รับผิดชอบเรื่องของตัวและส่วนรวมตามลำดับพัฒนาการ และหลังจากนั้นค่อยเรียนหนังสือเมื่อถึงเวลาที่พร้อม

บ้านกับโรงเรียนจึงเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญ ในการปั้นเด็กคนหนึ่งให้มีกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่จะต้องมีเป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน เลี้ยงลูกของพ่อแม่ เลี้ยงลูกศิษย์ของครู ไปในทิศทางเดียวกัน  สู่จุดมุงหมายที่ตั้งไว้

ครูให้ความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ และให้คำปรึกษา

เพื่อให้เด็กเติบโตสมวัย เห็นคุณค่าในตนเอง เรียนรู้ได้ดีมีทักษะสมองส่วนหน้า: EF ที่แข็งแรง แสดงพฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข สังคมไทยจำเป็นต้องมีครูปฐมวัยที่มีคุณภาพ ซึ่งทำหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่พ่อแม่ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอย่างถูกวิธี ควบคู่ไปกับการดูแลพัฒนาเด็กๆในความดูแลของตน 
ตามสื่อโซเชียลมีเดียมีพ่อแม่มากมายระบายปัญหาการเลี้ยงลูก แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่เองต้องการทางออกในการเลี้ยงดูลูก สวนดุสิตโพลได้สำรวจความต้องการของพ่อแม่ในช่วงโควิด พบเช่นกันว่า สิ่งที่พ่อแม่ต้องการเป็นอันดับหนึ่งคือความรู้และทักษะในการพัฒนาเด็ก ซึ่งคนที่ใกล้ชิดเด็กและจะช่วยเหลือให้ความรู้แก่พ่อแม่ได้ดีที่สุด ก็คือครู
เพราะพ่อแม่ในปัจจุบันจำนวนมาก ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูก ส่วนใหญ่หากไม่เลียนแบบการเลี้ยงลูกของตนเหมือนอย่างที่ตนได้รับการเลี้ยงดูมา ก็มักเลี้ยงดูไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในขณะนั้นๆ ภาพปัญหาของเด็กปฐมวัยที่ปรากฎออกมาจำนวนไม่น้อย สะท้อนความไม่รู้ของพ่อแม่ ครูปฐมวัยซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ใกล้ชิด เข้าใจสภาพความเป็นจริงทุกวันของเด็ก จึงเป็นที่พึ่งของความรู้ ความเข้าใจและให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ ให้ไปดูแลลูกๆ ของตนได้

พ่อแม่ผู้ปกครองให้เวลา สังเกตลูก และเลี้ยงดูแบบตอบสนอง

หน้าที่ที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ และสังคม ชุมชนต้องอำนวยให้เกิดได้จริงในชีวิตที่เร่งรีบ เต็มไปด้วยภาระมากมายที่ต้องทำ คือ “เวลา” และ “การเอาใจใส่” สังเกตลูก เลี้ยงดูแบบตอบสนอง  ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่เด็กคนหนึ่งต้องการอย่างมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีแรกที่เพิ่งเกิดมา

ธรรมชาติในช่วงแรกของชีวิตมนุษย์ต้องพึ่งพิงผู้อื่น เรียนรู้การใช้ชีวิตในแต่ละวัน เพื่อพัฒนาตนเองจนสามารถพึ่งตนเองได้ การให้เวลาแก่ลูก คือการสร้างแม่ (หรือผู้เลี้ยงดู) ที่มีอยู่จริงในยามที่เขาต้องการ รับรู้ว่าลูกหิว เจ็บ ไม่สบายตัวและตอบสนองให้อิ่ม ปลอดภัย สบายตัว การสังเกตลูกเป็นการเลี้ยงดู เอาใจใส่แบบเอาลูกเป็นศูนย์กลาง เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ในชีวิตจริงพ่อแม่ทุกคนมีข้อจำกัดมากมาย ทั้งเรื่องการงาน การเงิน เวลา ความรับผิดชอบด้านอื่นๆ การสังเกตลูกเลี้ยงดูแบบตอบสนอง มีความหมายว่า ภายในสภาวะที่เต็มไปด้วยความจำกัด พ่อแม่ไม่ได้เอาความสะดวกสบายของตนเองเป็นตัวตั้ง แต่ดู สังเกตว่าลูกเป็นอย่างไร และพยายามทำทุกอย่างภายใต้ข้อจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูก คือ “ความต้องการความรัก การเอาใจใส่ การรับฟัง และโอกาสในการเรียนรู้”

พ่อแม่เข้าร่วมกิจกรรมกับครู

แต่ละวันในโรงเรียนของเด็กปฐมวัย คือการเรียนรู้ชีวิตและโลก ว่าต้องทำกิจวัตรอะไร เพื่อให้ตนอยู่ดี มีสุข และต้องเรียนรู้อะไรเพื่ออยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ก่อนที่จะไปเรียนหนังสือในชั้นประถมเพื่อเป็นพื้นฐานในการสื่อสารและประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวเองเมื่อเป็นผู้ใหญ่ โรงเรียนอนุบาลจึงมีกิจกรรมมากมายในเด็ก ๆ ได้เรียนผ่านการเล่น
การเข้าร่วมมาแลกเปลี่ยนพูดคุยและขอคำปรึกษาเรื่องลูกของตนกับครู ทำให้ทั้งพ่อแม่และครูมีความเข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น มีแนวทางร่วมกันในการพัฒนาเด็กชัดเจนขึ้น การเข้าร่วมกิจกรรมในห้องเรียนของพ่อแม่ทำให้เด็กมีความสุข ภูมิใจ และมั่นคง ปลอดภัย เมื่อมีคนที่ตนรักอยู่ใกล้ให้การสนับสนุน การให้ความร่วมมือกับครู รวมทั้งแลกเปลี่ยน ข้อมูล ข้อคิดเห็นแบบคนที่มีหัวใจตรงกันคือ ต้องการเห็นลูกและลูกศิษย์พัฒนาสมวัย ทำให้ครูทำงานได้ดีขึ้น
การที่พ่อแม่เข้าร่วมกิจกรรมกับครูอย่างกระตือรือร้นจะเกิดขึ้นได้ โรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กต้องเป็นฝ่ายริเริ่ม ตั้งเป็นนโยบายของโรงเรียน ที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ
-ให้ผู้ปกครองได้ทราบข้อตกลงนี้ตั้งแต่เอาบุตรหลานเข้ามาเรียน
-สร้างเป้าหมายและวัตุประสงค์ของการเรียนของเด็กร่วมกัน
-สร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน ให้ความเคารพและรับฟังกันอย่างกัลยาณมิตร ไม่แยกส่วนหรือเป็นความสัมพันธ์แบบลูกค้ากับผู้รับจ้าง
-จัดกิจกรรมให้มีการสื่อสารสองทางและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ และมีความยืดหยุ่น แต่ต่อเนื่อง
เช่นนี้ โรงเรียนก็จะมีบทบาทสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพ่อแม่ที่ร่วมมือกับโรงเรียนดูแลแลt
ช่วยเหลือเด็กได้ทุกคน ความเป็นหุ้นส่วนชีวิตของลูกระหว่างบ้านกับโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองกับคุณครูก็จะเข้มแข็ง และส่งผลดีต่อการเติบโตของเด็กทุกคน


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง:
1)สโรทร ม่วงเกลี้ยง, (2565), ผลกระทบภาพรวมโควิด ต่อเด็กปฐมวัยในทุกมิติ: ข้อเสนอเชิงนโยบาย, ข้อมูลนำเสนอในเวทีวิชาการ”การฟื้นฟูเด็กปฐมวัยหลังสถานการณ์โควิดฯ”, สิงหาคม 2565
2)สวนดุสิตโพล, https://www.thaipost.net/general-news/29743/, สืบค้น 2 กพ.2566
3)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี

Avatar