ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในเด็กปฐมวัยจากสถานการณ์โควิด เป็นเรื่องที่พบในทุกประเทศ ในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาเด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี จำนวน 1,163 รายจากการให้ข้อมูลของครู/ผู้ดูแลเด็ก โดยให้ความหมายภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย: Learning Loss ครอบคลุมพัฒนาการ 5 มิติ ตั้งแต่ ;
- การถดถอยด้านสติปัญญา
- การถดถอยด้านอารมณ์-จิตใจ
- การถดถอยด้านร่างกายและสุขภาวะ
- การถดถอยด้านสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- การถดถอยด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์
โดยจากการศึกษาพบว่า ภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กอนุบาลปรากฎชัดในเรื่องสมาธิจดจ่อ การอดทนรอคอย ส่วนในการศึกษากลุ่มเด็กประถมต้นและปลายนั้น เรื่องสมาธิจดจ่อ การอดทนรอคอย การอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ มีความถดถอยถึงขั้นวิกฤต ปัญหารองลงมาคือ ความรับผิดชอบทำงานให้เสร็จ การตรงต่อเวลา การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสื่อ
การสำรวจภาวะถดถอยในเด็กปฐมวัย
5 มิติของภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัย ที่คณะนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แยกแยะไว้ได้แก่;
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยด้านสติปัญญา : สถานการณ์การเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัย (อายุ 3-5 ปี) ด้านสติปัญญา ความถดถอยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด เป็นเรื่องการจับใจความสำคัญและเข้าใจเรื่องที่พูดได้ถูกต้อง (การฟังคำสั่ง) ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของเด็กปฐมวัย
นอกจากนี้ ภาวะการถดถอยที่วิกฤติมากที่สุดของเด็กปฐมวัยไทย คือ การมีสมาธิจดจ่อ และการคิดแยกแยะ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Critical Thinking อันเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยด้านอารมณ์-จิตใจ เด็กเล็กมีภาวะถดถอยทางอารมณ์-จิตใจ มีความเครียด ไม่ร่าเริงแจ่มใส มีอาการเหม่อลอย สมาธิสั้นกว่าที่เคยมา ควบคุมกำกับพฤติกรรมและอารมณ์ของตนได้น้อยลง และมีเด็กบางคนที่สะท้อนให้เห็นได้ว่ามีความเครียด ซึ่งสังเกตได้จากการปัสสาวะรดที่นอน อย่างไรก็ตาม การศึกษาของจุฬาฯในครั้งนี้มีความแตกต่างจากข้อมูลของหน่วยงานอื่น ที่พบว่า ภาวะถดถอยทางด้านอารมณ์-จิตใจยังไม่เป็นปัญหาเท่าด้านสติปัญญา
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยด้านร่างกาย : ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องน้ำหนัก ส่วนสูง การเคลื่อนไหวและการใช้ส่วนต่างๆของร่างกาย การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานประสานกับสายตา การได้รับอาหารที่เป็นประโยชน์ จากรายงานวิจัยดังกล่าว พบว่าเด็กปฐมวัยจำนวนมากใช้หน้าจอมากเกินไป ทำให้การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานประสานกับสายตาของเด็กจำนวนหนึ่งที่ทำการสำรวจ มีภาวะถดถอยลง
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยด้านสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ครอบคลุมถึงความสามารถในการเล่นและทำกิจกรรรมร่วมกับเพื่อนในห้องเรียน การรับฟังความคิดเห็นของครู เพื่อนและผู้อื่น การยอมรับและปฏิบัติตนตามข้อตกลงในชั้นเรียน การแสดงความเมตตาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การปรับตัวและทำความคุ้นเคยกับคนที่ไม่รู้จัก การเจรจาต่อรองและเล่นกับเพื่อนอย่างสันติ
สิ่งที่ครูพบว่าเป็นปัญหาถดถอยค่อนข้างมากคือ การปฏิบัติตนตามข้อตกลงของชั้นเรียน การรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และมีกลุ่มที่เป็นวิกฤติเรื่องการเล่นกับเพื่อน เด็กไม่เล่นกับเพื่อน ชอบอยู่คนเดียว อาจเป็นเพราะเด็กอยู่บ้านที่ไม่มีสังคมหรือเพื่อนเล่นเป็นเวลานานเกินไป หรือบางกรณีเป็นลูกคนเดียว
ภาวะการเรียนรู้ถดถอยด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คุณลักษณะที่เด็กในวัยนี้สะท้อนออกมาเป็นความสามารถในการอดทนรอคอย การมีความรับผิดชอบ การทำงานที่ได้รับมอบหมายจนเสร็จ การมีวินัย ตรงต่อเวลา ซื่อสัตย์ รู้ว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ ไม่แกล้งเพื่อน ไม่เอาแต่ประโยชน์ของตน ไม่โกหก รับผิดเมื่อทำผิด ซึ่งคุณลักษณะส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะสมองส่วนหน้า EF ในการกำกับตนเอง พบว่าในเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในกลุ่มเด็กปฐมวัยที่ทำการศึกษา มีปัญหาเรื่องความสามารถในการอดทนรอคอย และความรับผิดชอบทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ
ครูช่วยฟื้นฟูภาวะถดถอยได้
การฟื้นฟูพัฒนาการรอบด้านสามารถบำบัดภาวะเรียนรู้ถดถอย ครูจำเป็นต้องได้รับความรู้และการส่งเสริมให้รู้จักประเมินภาวะถดถอยของเด็กเป็นรายบุคคล ตามระดับอายุ และจัดกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่พบ เช่น เมื่อพบว่าเด็กใช้มือและตาไม่ประสานสัมพันธ์กัน การจัดกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อทั้งสองอย่างในการทำงานให้สัมพันธ์กัน เช่น การปั้น การระบายสี การร้อยวัสดุสามารถช่วยได้
การใช้นิทานและกิจกรรมให้เด็กได้สื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู การกำหนดข้อตกลงในห้องเรียน ช่วยให้เด็กปรับพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์และจิตใจที่ดีขึ้นได้ภายใน 3 เดือน
การเรียนแบบ Active Learning สามารถแก้ปัญหาการคิด การทำงาน ความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ได้
นักวิชาการยังชี้แนะว่า การแก้ปัญหาฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยตั้งแต่เด็กยังอยู่ในช่วงปฐมวัย ใช้เวลาน้อยกว่า แก้ปัญหาได้ดีและเร็วกว่า ผู้บริหาร หน่วยงานรับผิดชอบ ต้องช่วยกันหนุนครูให้ดูแลเด็กได้ทั้งรายบุคคลและกลุ่ม โดยสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างรอบด้านและเร่งด่วน
ดังที่รู้กันว่า สมองและจิตใจของเด็กเล็กนั้นมีความยืดหยุ่นสูงมาก แม้ภาวะถดถอยจะสร้างความเสียหายแก่พัฒนาการหลากมิติในเด็กในช่วงโควิด แต่โดยทั่วไป หากมีการจัดการส่งเสริมที่เหมาะสมตามหลักพัฒนาการและธรรมชาติของปฐมวัยแล้ว เด็กก็จะสามารถฟื้นฟูสมอง จิตใจและพัฒนาการด้านต่างๆให้คืนกลับมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง
อ้างอิง:
1)รายงานสถานการณ์ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในเด็กปฐมวัยและเด็กประถมศึกษาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID -19 ในประเทศไทย,ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า และคณะ,สาขาวิชาประถมศึกษา, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา