หลังโควิดพ่อแม่อ่อนแอลงทุกด้าน

ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อทุกครอบครัว ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ อารมณ์ความรู้สึก ไปจนถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นคนมีรายได้น้อยและเปราะบาง ครอบครัวที่มีเด็กเล็กนั้นได้รับผลกระทบในทุกด้านมากขึ้นไปอีก จากการสำรวจของยูนิเซพพบว่า 60.7% ของครอบครัวที่ยากจนเหล่านี้มีรายได้ลดลงถึง 50% ในขณะที่ 37.2% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 50% ครอบครัวถูกกระหน่ำด้วยปัญหาปัญหาเศรษฐกิจนำไปสู่ความเครียด ปัญหาความสัมพันธ์และความรุนแรงในครอบครัว ท่ามกลางปัญหาโควิด–19 ที่แพร่ระบาด ครอบครัวที่อ่อนแอลงในทุกด้าน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ครูยังเป็นที่พึ่งทางความคิดและทางใจของเด็กและครอบครัวได้

หลังโควิด เมื่อเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหกแสนกว่าคน  และเด็กในโรงเรียนอนุบาลอีกกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นกว่าคน กลับเข้ามาสู่สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ตลอดทั้งวันที่เด็กได้อยู่กับครู จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กกลับเข้าสู่ภาวะชีวิตที่ปกติขึ้น เด็กที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจจะได้กินข้าวอิ่มท้อง อารมณ์และจิตใจของเด็กมีครูดูแล

ครูอนุบาลที่มีความรู้ ความเข้าใจจะค่อยโอบอุ้มอารมณ์ความรู้สึกเด็กให้กลับมาสู่ภาวะปกติ และค่อย ๆ ฝึกหัดวินัยและกำกับความประพฤติเด็กให้มีชีวิตตามตารางเวลา และทำกิจกรรมการเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ค่อย ๆ ปรับตัว รู้สึกปลอดภัย เครียดน้อยลง เรียนรู้ได้ดีขึ้น

นอกจากบทบาทดังกล่าว ครูอนุบาลที่มีความรู้ยังช่วยเกื้อหนุนพ่อแม่ให้เข้าใจ ปฏิบัติ และดูแลเด็กได้อย่างถูกต้อง ประคับประคองกันดูแลและแก้ปัญหาเด็กเล็กไปด้วยกัน รวมทั้งให้กำลังใจพ่อแม่ให้สามารถทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดได้อีกด้วย ดังที่ รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ครูและโรงเรียนต้องเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่คอยช่วยเหลือพ่อแม่ให้รู้จักกระตุ้นเด็กให้เกิดการเรียนรู้และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ผู้บริหารดูแลครูด้วยความเคารพ เชื่อมั่น ให้กำลังใจ

ดังนั้น นอกเหนือไปจากการดูแลพัฒนาเด็กปฐมวัย ครูที่มีคุณภาพจึงทำหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงให้พ่อแม่เลี้ยงลูกให้ดีขึ้นด้วย ผู้บริหารโรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลสนับสนุนครูเด็กเล็กได้ทำงานของตนอย่างเต็มที่ นอกจากการเปิดโอกาสให้ครูได้เติมความรู้อย่างต่อเนื่อง ครูเด็กเล็กยังต้องการได้รับความเคารพความคิดเห็น การรับฟัง อีกทั้ง ความเชื่อมั่นว่า ครูสามารถคิดสร้างสรรค์ บริหารจัดการห้องเรียน รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา และพัฒนาเด็กได้ตามเป้าประสงค์
ผู้บริหารเป็นบุคคลสำคัญในการหนุนเสริมครูด้วยการให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ให้ครูตระหนักว่า ภาระและงานที่หนักของตนมีคุณค่าต่อชีวิตน้อยๆ หลายชีวิตในมือครู ที่จะเติบโตต่อไปในภายหน้าอย่างมีคุณภาพ และงานที่ลงมือทำมากมายในแต่ละวันของตนมีคนเห็นและสนับสนุนเสมอ
ครูจึงจะรู้สึกถึง “พลัง” ของครูที่จะเป็นที่พึ่งของเด็กและพ่อแม่ได้

ให้ความรู้ครูปฐมวัยต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น

ทัศนคติที่ดีต่อตนเองและต่อวิชาชีพครูปฐมวัยเป็นรากฐานที่ทำให้ครูมีใจทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ การให้ครูได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทันกับความก้าวหน้าของความรู้และสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะยิ่งทำให้ครูทำหน้าที่ “ครู”ผู้ประคองเด็กและพ่อแม่ได้ดียิ่งขึ้น ความรู้ของครูมาจากความรู้ใหม่ที่ครูต้องได้รับการเติมเต็มให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ การได้นำความรู้ไปปรับใช้ในห้องเรียน จนเกิดความชำนาญ และได้แลกเปลี่ยนกันกับครูคนอื่น ได้เรียนรู้วิธีการที่ใช้ได้ผล บทเรียนที่ใช้ไม่ได้ผล ที่กลายเป็นทักษะความเชี่ยวชาญและความรู้ของตนเอง จนเกิดความมั่นใจ สามารถปรับใช้ความรู้และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นหรือผลิกผันตลอดเวลา

ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องเร่งปรับปรุงระบบนิเวศน์ ส่งเสริมศักยภาพครู ให้มีความรู้เรื่องพัฒนาการ การสังเกตเด็กโดยข้อแนะนำต่อไปนี้;

ให้ “เครื่องมือ” ครูในการประเมินเด็กในด้านต่าง ๆ เป็นรายบุคคล เช่น เครื่องมือสังเกตอาการ 9s โดยกรมสุขภาพจิต, School Health Hero App โดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ และคู่มือ DSPM รวมทั้งสำรวจเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

– ให้ “ความรู้และพัฒนาทักษะ” การปกป้องเด็กจากความรุนแรง ช่วยเหลือปัญหาด้านสุขภาพจิตแก่เด็ก และทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจแก่พ่อแม่ ช่วยเหลือกันฟื้นฟูเด็กอย่างเป็นระบบ มีเครือข่ายและแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

– มีระบบ “Coaching” และ “Support Group” ให้ครูได้ช่วยเหลือกัน ปรับทุกข์ ให้กำลังใจกัน พัฒนาครูให้สามารถ ยืดหยุ่น ปรับตัว และเปลี่ยนวิธีการพัฒนาการทำงานได้อย่างมั่นใจ โดยมีผู้บริหารอยู่เคียงข้าง ให้การสนับสนุน กำลังใจและคอยช่วยเหลือเมื่อมีความต้องการ

สถานการณ์โควิดที่ยาวนาน ทำให้พัฒนาการของเด็กถดถอย จะฟื้นฟูเด็กขึ้นมาได้ ต้องฟื้นฟูใจครูก่อน ใจครูมั่นคง มีพลังของความรู้ มีระบบและผู้บริหารหนุนช่วยอย่างจริงจัง ครูก็จะช่วยเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองให้ก้าวต่อไปได้อย่างคุณภาพ


อ้างอิง:
1)UNICEF, (2563), ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครอบครัวเปราะบาง: ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก https://www.unicef.org/thailand/media/6206/file/COVID- 19%20Impact%20on%20young%20children.pdf, สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2566
2)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี