สวมแมสก์ตลอดปี  นั่งอยู่กับที่ทั้งวัน  อันตรายหรือไม่

ในปี 2562 หนึ่งในสิบของเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบของไทย ส่วนใหญ่ครอบครัวยากจนถึงยากจนมาก มีภาวะแคระแกร็นจากการเลี้ยงดู ออกกำลังกายน้อย ข้อมูลพบว่าเด็กไทย 0-2 ขวบแทบไม่มีกิจกรรมทางกาย และเด็ก 3-5 ขวบมีกิจกรรมทางกายน้อยมาก ที่โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กเองไม่ได้ให้เด็กออกกำลังกายจริงจัง อีกทั้งทั่วประเทศมีเด็กฟันผุอยู่ถึงราว 30-50% นี่คือ สถานการณ์ของพัฒนาการทางร่างกายของเด็กปฐมวัยก่อนโควิด

จากการสำรวจของธนาคารโลก ช่วงโควิดส่งผลให้สถานการณ์เด็กเล็กหนักขึ้นไปอีก เด็กเล็กในครอบครัวยากจนเกือบ 40 % ต้องหิวหรือบางครั้งไม่มีอาหารกิน การที่โรงเรียนและสถานพัฒนาเด็กต้องปิด ทำให้เด็กขาดโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ ไม่ได้ฝึกสุขนิสัย และขาดการออกกำลังกาย

การต้องสวมแมสก์ตลอดทั้งปี ทำให้ปัญหาพัฒนาการทางร่างกายของเด็กเล็กที่ประสบมาตั้งแต่ก่อนโควิด หนักหน่วงมากขึ้นในช่วงโควิด  และหนักที่สุดก็คือเรื่องของการขาดโภชนาการที่ดีและเพียงพอ การใช้มือถือ สุขนิสัยช่องปาก และการขาดการออกกำลังกาย

โควิดตัดโอกาสพัฒนาด้านร่างกายของเด็ก

สังคมสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะขาดธรรมชาติ (NDD-Nature Deficit Disorder) คนรุ่นใหม่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมักไม่ชอบออกกลางแจ้ง อยู่กับธรรมชาติน้อยลง กิจกรรมทางกายน้อยลง สถานการณ์โควิดทำให้สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา ฯลฯ ต้องปิดหมดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เด็กเล็กไม่ได้ไปโรงเรียน ยิ่งแทบไม่มีกิจกรรมทางกาย เพราะพ่อแม่ไทยส่วนใหญ่ก็ไม่มีนิสัยออกกำลังกาย และไม่พาลูกทำด้วย

การขาดโอกาสทำกิจกรรมทางกายส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเด็กปฐมวัยหลายเรื่อง เด็กที่ไม่ได้ออกกำลังกาย จะมีบุคลิกที่อยากออกไปเล่นข้างนอกน้อยลง ไม่สนใจกิจกรรมกลางแจ้ง กลายเป็น Indoor Generation ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง เกิดเป็นพฤติกรรมรากงอก (Sedentary Behavior) ชอบแต่นั่งๆนอนๆ อยู่กับที่

สถานการณ์โควิดที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ ขาดกิจกรรมทางกายทำให้เด็กหมกหมุ่นกับหน้าจอมากขึ้น นำไปสู่การติดทีวี ติดมือถือ ติดเกมส์ นิสัยการกินการนอนเปลี่ยนไป กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเวลา นอนดึก ไม่เป็นเวลาเกิดโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโรดม (CVS – Computer Vision Syndrome)  สายตาสั้น ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม และตาพร่ามัว เป็นต้น      

เมื่อโควิดผ่านไปแล้ว เด็กๆ สามารถไปโรงเรียน ไปเล่นที่สนามเด็กเล่นได้ฯลฯ พ่อแม่ ชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียน จึงควรหันกลับมาสนใจอย่างจริงจังให้เด็กเล็กได้ออกกำลังทางกายทุกวัน นอกเหนือจากให้เด็กได้กินอาหารที่มีประโยชน์ และการดูแลสุขภาพช่องปาก

สถานศึกษาต้องจัดเวลาพาเด็กออกกลางแจ้ง

อัตราการเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลของเด็กปฐมวัยของไทยเรา สูงเกือบ 100 %
จากการสำรวจในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 เมื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเปิดหลังสถานการณ์โควิด พบว่าพัฒนาการของเด็กเล็กดีกว่าช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สถานพัฒนาเด็กเล็กมีบทบาททำให้พัฒนาการเด็กดีขึ้นได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
สถานพัฒนาเด็กเล็กจึงเป็นฐานสำคัญในการฟื้นฟูสุขภาพและพัฒนาการทางกายของเด็กปฐมวัย ทั้งเรื่องความสูง สมรรถนะทางกายและฟันผุน้อยลง ปรับเปลี่ยนโภชนาการ ให้เด็กออกกำลังกาย สร้างความร่วมมือกับพ่อแม่ให้ร่วมกันดูแลสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวกลุ่มเสี่ยง ฐานะยากจน พ่อแม่วัยรุ่น นอกจากนี้ยังช่วยกันกับหน่วยงานรับผิดชอบและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความรู้แก่พ่อแม่และครอบครัว ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนครอบครัวเปราะบางอย่างทั่วถึงและ “เข้าถึง” ให้มีแนวทางปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวกเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กปฐมวัย
องค์การอนามัยโลก ได้วางแนวทางใน WHO Movement Guidelines แนะนำให้เด็กและวัยรุ่น (5-17 ปี)มีกิจกรรมทางกายที่ต้องใช้แรงระดับปานกลาง ประมาณ 60 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 7 วัน โดยแนะนำให้เป็นกิจกรรมทางกายที่เป็นแบบแอโรบิค (aerobic exercise)  ที่ต้องหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปเป็นตัวช่วยในการเผาผลาญพลังงานออกมาใช้งาน  ซึ่งจะทำให้ระบบหายใจของร่างกายทำงานเร็วขึ้น แรงขึ้น ต้องหายใจทางปากเพื่อดูดออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้ได้มากที่สุด หัวใจจะเต้นแรงขึ้น เพื่อเร่งส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นไม่ควรให้ออกกำลังกายที่ตั้งกฎกติกา หรือมีระเบียบ หากควรเป็นรูปแบบของการเล่นที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรจัดกิจกรรมฐานกายให้มีคุณภาพ จัดชั่วโมงพละและกิจกรรมที่หนุนเสริมให้เด็กมีสูงสมส่วนตามมาตรฐาน จัดสนามเด็กเล่นและเวลาให้เด็กได้เล่นอิสระอย่างสนุกสนานและมีความสุข ประเมินสมรรถนะร่างกายของเด็กเป็นประจำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีสมรรถนะที่แข็งแรงขึ้น

กิจกรรมทางกายที่แนะนำสำหรับเด็กปฐมวัย

สิ่งสำคัญแรกสุดที่ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจคือ ต้องให้เด็กสนุกตามความชอบความต้องการของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไป  ต้องทำให้กิจกรรมทางกายเป็นการเล่นที่สนุกสนาน ได้เล่นกับเพื่อนหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ใช่การบังคับให้ต้องทำ แต่ชวนให้มาเล่นด้วยกัน  และเล่นให้มากพอให้เหงื่อออก แก้มแดง

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อใหญ่และการทรงตัวดีขึ้น มีสายตา และมิติสัมพันธ์ของตา-มือ-ขาดีขึ้น แต่ยังต้องสอนให้ระมัดระวังเพราะการประสานมือ-ตา-แขนขา ยังไม่สมบูรณ์

 เด็กปฐมวัยจะไม่ชอบอยู่นิ่ง แต่ชอบวิ่ง วิ่งไล่จับ วิ่งเก็บลูกบอล เตะลูกบอล ชอบกระโดดกระต่ายขาเดียว จิงโจ้สองขา ชอบขว้าง-โยนลูกบอล ชอบปีนบ่ายเครื่องเล่นต่างๆ ขอบเล่นน้ำ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ฯลฯ

เราจำเป็นต้องฝึกและสร้างนิสัยให้เด็กออกกำลังกาย สะสมความสามารถและรู้สึกถึงชัยชนะเล็กๆในทุกๆ วันจากการออกกำลังกายได้มากขึ้นที่ละเล็กทีละน้อย แม้ “ยัง”ทำไม่ได้ก็พยายามต่อ ทำให้เด็กมีจิตใจเข้มแข็ง ล้มแล้วลุกได้ มีสุขภาพแข็งแรง เห็นคุณค่าตนเอง (Self – Esteem) มีทักษะสมอง EF ดี

ยิ่งมีกิจกรรมทางกายหรือได้เคลื่อนไหวมากเท่าไร เด็กปฐมวัยจะยิ่งมีพัฒนาการตามลำดับ (Milestone) เร็วขึ้น  มาร่วมด้วยช่วยกัน ฝึกให้เด็กออกกำลังกายจนเป็นนิสัย สร้างร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง สมองว่องไว เรียนรู้ได้ดี และฟื้นฟูประสบการณ์ไม่พึงประสงค์จากโควิดที่ผ่านมา


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง :
1)WHO, (2020), WHO Guidelines on Physical Activity and Sedentary Behavior,
https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/337001/9789240014886-eng.pdf สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565
2) โรงพยาบาลศิริราชปิยะมหาราชการุณย์, (2561), การออกกำลังกายแบบแอโรบิคคืออะไร, https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/854
3)ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ และคณะ, (2562) อยากสุขภาพดีต้องมี 3 อ. สำหรับเด็กเล็ก โครงการจัดการความรู้สุขภาพสื่อและเทคโนโลยีออนไลน์ มูลนิธิหมอชาวบ้าน, www.thaihealth.or.th, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565
4)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี