อะไรคือ ACEs

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อธิบาย “ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก” (Adverse Childhood Experience; ACEs) ว่าหมายถึงประสบการณ์ความเครียดที่เด็กได้รับ ตั้งแต่การถูกทอดทิ้งทาง การถูกทอดทิ้งทางใจ การทารุณกรรมทางกาย ใจ ความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิด การหย่าร้างในครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ ยังหมายรวมถึง การที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม กินไม่อิ่ม นอนไม่พอ หรือติดอยู่หน้าจอตั้งแต่ยังเล็ก ยิ่งเด็กต้องเผชิญกับจำนวนครั้งของประสบการณ์ไม่พึงประสงค์มากเท่าใด ความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อชีวิตที่เติบโตขึ้นไป ยิ่งมากตามไปเท่านั้น

ACEs ส่งผลอย่างไรบ้างหากเกิดในเด็กปฐมวัย

เด็กที่ได้รับประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ มีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพในระยะยาวทั้งทางกายและทางใจ มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมเสพติด การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การมีโรคประจำตัว โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคซึมเศร้า (มีความเสี่ยงถึง 14 เท่าที่จะฆ่าตัวตาย) โรคจิตเวช และพลั้งที่จะตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เด็กได้รับ จะส่งผลต่อความภาคภูมิใจตนเองของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ เด็กมีมุมมองด้านบวกต่อตนเองและโลกลดลง มีความเครียดสะสมมากกว่าคนทั่วไปในระดับปกติ ความเครียดเหล่านี้บั่นทอนการทำงานของสมอง ภาพสแกนสมองของเด็กที่มีความเครียดสะสมยาวนาน แสดงให้เห็นถึงใยประสาทที่หดสั้นกว่าปกติ เหมือนรากต้นไม้ที่ถูกน้ำร้อนลวก ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาททำได้ไม่ดี ส่งผลทำให้การเรียนรู้ การคิดไตร่ตรองไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

อีกทั้งพบว่าเด็กที่ประสบการณ์ช่วงต้นของชีวิตมีความยากลำบากมักมีอายุขัยสั้นว่าคนทั่วไปอีกด้วย

สถานการณ์โควิด คือหนึ่งในประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่บีบคั้นให้เด็กเล็กต้องเผชิญความเครียดนานนับปีตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา

ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่มีต่อเด็กปฐมวัยมีมากมาย

โควิด ทำให้เด็กปฐมวัยจำนวนมากมีปัญหาด้านโภชนาการ ไม่ได้รับนมแม่อย่างเพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ ต้องเผชิญกับความหิวโหย กินไม่อิ่ม จากการที่ผู้ใหญ่ในบ้านไปทำงานไม่ได้ ไม่มีเงิน อาหารที่ได้ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ กินนอนไม่เป็นเวลา นอนดึก ไม่ได้ไปโรงเรียน โอกาสในการเรียนรู้น้อยลง ขาดพัฒนาการทางสังคมตามช่วงวัย เด็กมีพัฒนาการล่าช้ามากขึ้น เด็กเล็กขาดการเล่นตามวัย ไม่ได้ออกจากบ้านเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ดูโทรทัศน์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้สมาธิแย่ลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เด็กจำนวนมากมีความเครียดมากขึ้นและได้รับความรุนแรงจากความเครียดของผู้ใหญ่ ยังไม่นับรวมเด็กจำนวนไม่น้อยที่เจ็บป่วยจากการแพร่ระบาดของโรค

ผลกระทบด้านลบที่กล่าวมาล้วนเป็นประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เด็กเล็กจำนวนมากต้องประสบพบเจอในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้พบได้ทั่วไปหลังเปิดเมืองว่า เด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กโดยทั่วไปมีปัญหาทางอารมณ์ ก้าวร้าว และพฤติกรรมที่ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด และมีเด็กที่ติดเกมเป็นจำนวนมาก

แก้ไข ACEs ตั้งแต่ปฐมวัย อาจช่วยให้ปัญหาบรรเทาลง

ปัจจุบัน เด็กปฐมวัยเกือบ 100% อยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งสองประเภท จึงเป็นฐานสำคัญในการช่วยบรรเทา และแก้ไข ACEs ตั้งแต่ปฐมวัย โดยทำงานร่วมมือกับสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการฟื้นฟูดูแลสุขภาพทางกาย ให้เด็กได้รับอาหารที่ครบถ้วน ได้กินอิ่ม ได้รับการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ และจัดเวลาให้เด็กได้ออกกำลังกายทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ได้นอนเพียงพอ และไม่เล่นมือถือก่อนวัยอันควร

การออกกำลังกายเป็นเครื่องมือฟื้นฟูสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งเด็กได้ทำกิจกรรมทางกายมาก ได้เคลื่อนไหว มีเวลาได้ออกกำลังกายจนเป็นนิสัย จะทำให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ประสาทสัมผัสได้ทำงานอย่างคล่องแคล่ว จิตใจเข้มแข็ง และสมองเรียนรู้ได้ดี ความภาคภูมิใจในตนเองจะตามมา การออกกำลังกายเป็นประจำจึงสามารถช่วยบำบัดฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหา ACEs หรือเด็กที่มีประสบการณ์เลวร้ายได้

ชุมชนร่วมคลี่คลาย ป้องกัน ACES

นอกจากสนามเด็กเล่นในโรงเรียน ในชุมชนทุกชุมชนจำเป็นต้องจัดให้มีสนามให้เด็กได้เล่นด้วยกัน และมีพื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณะสำหรับครอบครัวในชุมชนที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการหนุนช่วยพ่อแม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลลูกอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการใช้เวลาที่มีความสุข ทำกิจกรรม เล่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือร่วมกันทุกวัน รอยแผลที่เกิดขึ้นของชีวิตเด็กปฐมวัยในช่วงโควิดก็จะบรรเทาลง
ควรมีการจัดทำรูปแบบการประเมินบริบทครอบครัวและสังคมของเด็กที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือส่งเสริมสนับสนุนตามสภาพของแต่ละครอบครัวหรือของเด็กแต่ละคน  หน่วยงานและชุมชนดำเนินการทบทวนว่าครูปฐมวัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลเด็กมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญ ในชุมชนควรมีการให้ความรู้แก่พ่อแม่อย่างทั่วถึง พัฒนาบุคลากรที่รับผิดชอบให้สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองให้เข้าใจ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้สังคมเห็นความสำคัญ
เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง เราย่อมจะฟื้นฟูเด็กของเราให้หลุดออกจากภาวะการได้รับประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ได้


ปรารถนา หาญเมธี : เรียบเรียง

อ้างอิง:
1)สโรทร ม่วงเกลี้ยง, (2565), ผลกระทบภาพรวมโควิด ต่อเด็กปฐมวัยในทุกมิติ: ข้อเสนอเชิงนโยบาย, ข้อมูลนำเสนอในเวทีวิชาการ”การฟื้นฟูเด็กปฐมวัยหลังสถานการณ์โควิดฯ”, สิงหาคม 2565
2)Self-esteem of parents and adverse childhood experiences, Atchariya Aphiwatthanakul, Parichawan Chandarasiri*, Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand, https://he01.tci-thaijo.org/index.php/clmb/article/download/215974/162879/ สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2565
3)วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี