ก่อนสถานการณ์โควิด แม้พระราชบัญญัติการศึกษาปฐมวัย 2562 ได้ยกเลิกการสอบคัดเลือกเข้า ป.1 แต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนอนุบาลจำนวนไม่น้อยยังเร่งเรียนเขียนอ่านกันอยู่ เพราะผู้ปกครองส่วนมากก็ยังไม่เข้าใจ คิดว่า เข้าอนุบาลได้เดือนสองเดือนแล้วต้องอ่านออกเขียนได้ ก็ไปกดดันครูให้เร่งสอนหนังสือ เด็กอนุบาลจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญการสอบเข้าเพื่อขึ้นสู่ชั้นประถม 1 ฯลฯ ซึ่งความเข้าใจที่ผิดเหล่านี้ทั้งของโรงเรียนและพ่อแม่ สร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็กเล็กจำนวนมากต่อเนื่องยาวนานมาหลายสิบปี

รองศาสตราจารย์ นพ.สุริยเดว ทริปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เคยกล่าวว่า ระบบแพ้คัดออกส่งผลเสียต่อจิตใจ สังคมและอารมณ์ของเด็กอย่างยิ่ง เป็นระบบที่ส่งผลกระทบให้คนที่ชนะเห็นแก่ตัว และคนที่แพ้รู้สึกตนเองล้มเหลว วิตกกังวล เครียด นำไปสู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ยิ่งแพ้ซ้ำซาก ก็จะไม่เห็นคุณค่าตนเองตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก อาจจะกลายเป็นภาวะซึมเศร้า ที่เป็นโรคฮิตติดอันดับของเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวในเวลาต่อไป และนำไปสู่พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ มากมาย

พ่อแม่ต้องตั้งสติ ทบทวนเป้าหมายในการเลี้ยงลูก

หลังโควิด พ่อแม่ผู้ปกครองควรตั้งสติและมองเห็นความจริงของโลกยุคใหม่ว่า ทุกวันนี้ เรากำลังเผชิญสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่จะคาดการณ์ได้ โลกยุคใหม่ที่เรียกว่า VUCA ซึ่งย่อมาจาก V=Volatility (ความพลิกผวน) U=Uncertainty (ความไม่แน่นอน) C=Complexity (ความซับซ้อน) และ A=Ambiguity (ความคลุมเครือ) ได้นำมาซึ่งความเปราะบาง (Brittle) ความกังวล(Anxious) การไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ตรงไปตรงมา (Non-Linear) และยากจะเข้าใจ (Incomprehensible) ในทุกเรื่อง การเลี้ยงลูกก็ซับซ้อนขึ้น จากเดิมเราอาจคาดหวังว่า ก็แค่อยากให้ลูกโตมา มีสุขภาพดี พึ่งตนเองได้ ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ มีครอบครัวที่ดี และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมก็พอแล้ว
แต่คิดแค่นี้… วันนี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว
ในโลกใหม่ที่ซับซ้อนและอยู่ยากขึ้น เราต้องเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรง ทนทานต่อโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆที่ไม่รู้จะระบาดมาอีกเมื่อไร ลูกต้องเป็นคนกินง่าย นอนง่าย อยู่ง่าย ใช้ชีวิตง่าย ชอบออกกำลังกาย ดูแลร่างกายตัวเองเป็น และลูกเราต้องมีสุขภาพจิตดี เข้มแข็ง เจออะไรก็ไม่ท้อง่าย เพราะในวิถีโลกใหม่ ความไม่แน่นอนและโอกาสล้มเหลวของเด็กรุ่นใหม่ จะสูงมากกว่าในรุ่นพ่อแม่มาก
ในโลกใหม่ที่ซับซ้อนและอยู่ยากขึ้นนี้ เด็กต้องมีใจใฝ่รู้ และมีความสามารถในการแสวงหาและคัดสรรความรู้ที่มีมากมายรอบตัว เพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และเพื่อแก้ปัญหาที่ยากขึ้น พวกเขาจะไม่ใช่มนุษย์ที่ทำงานตามสายพานอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องคิดอะไรมากเหมือนคนรุ่นพ่อแม่
ในโลกใหม่ที่ซับซ้อน นอกจากดูแลตนเองได้ พึ่งตนเองเป็นและมีความสามารถเฉพาะตัวหลายด้าน แต่ก็ยังต้องทำงานกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เพราะงานสมัยใหม่ในโลกแห่งเทคโนโลยี ล้วนเป็นงานที่ซับซ้อนไม่สามารถทำคนเดียวได้เสร็จตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องทำงานเป็นทีม
ในโลกสมัยใหม่ หน้าที่พลเมืองที่ดีก็ไม่ได้หมายเพียงการเป็นประชาชนที่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และเคารพสิทธิของผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังต้องการ Active Citizen ที่มีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจ และแก้ปัญหาทั้งในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับโลกด้วย
เราจึงต้องตั้งสติ และตั้งความคาดหวังต่อลูกให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ตระหนักว่า ไม่มีใครทดแทนพ่อแม่ได้ในใจลูก

นอกจากตั้งเป้าหมายในการเลี้ยงลูกในโลกอนาคตให้มั่นคงแล้ว พ่อแม่จำเป็นต้องทบทวนบทบาทตนเองว่า ไม่มีใครทดแทนเราได้ ลูกควรอยู่ในการเลี้ยงดูที่อบอุ่นของพ่อแม่อย่างน้อยก็ในช่วงแรกเริ่มของชีวิต  

นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตอบสนองลูกตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกช่วงวัยที่ผ่านไป จะเป็นฐานที่แข็งแรงมั่นคงของช่วงถัดๆไป จนกว่าลูกจะเป็นผู้ใหญ่และดูแลตัวเองได้

ถ้าเราคิดเพียงว่า เลี้ยงลูกให้กินอิ่มนอนหลับก็พอแล้ว ที่เหลือให้คนอื่น ครู โรงเรียนไปจัดการเอง ก็เป็นการคิดผิด เพราะยากที่ครูจะดูแลพัฒนาเด็ก 30-40 คนให้ดีตามศักยภาพของเด็กทุกคน ได้ทั่วถึงและมีคุณภาพ

และที่สำคัญ สำหรับลูกมนุษย์แล้ว ไม่มีใครมีอิทธิพลต่อจิตใจและความเป็นไปของลูกได้มากเท่ากับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเขามากที่สุด ถ้าได้รับความรักความใส่ใจและตอบสนองถูกทาง อย่างไร ลูกหลานก็เติบโตดี แน่นอน

เข้าใจธรรมชาติการพัฒนาของลูก

พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติพัฒนาการของเด็ก และความเป็นพิเศษของเด็กแต่ละคน ขณะเดียวกันต้องเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังล้อมรอบตัวลูก แล้วตอบสนองอย่างเหมาะสม

หนึ่ง) พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติการพัฒนาของลูกว่า เด็กมีธรรมชาติตามวัยอย่างไร สมอง จิตใจ ตัวตน และพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ลูกแต่ละคนมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวอย่างไร มีการเรียนรู้อย่างไร 

สอง) เข้าใจสถานการณ์วันนี้ที่รอบตัวลูก และคาดการณ์สิ่งที่ลูกเราอาจจะต้องเผชิญในอนาคต ว่าน่าจะเป็นอย่างไร
เมื่อเข้าใจทั้งสองด้านนี้แล้ว ก็ศึกษาหาแนวทางตอบสนองอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย โดยปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวพ่อแม่ผู้ปกครองเอง แทนที่จะมุ่งมั่น “ปั้นลูกให้ได้ดั่งใจ” เปลี่ยนบทบาทเป็น “นั่งร้าน” (Scaffold) หรือคนที่เอื้ออำนวย ปรับตัวให้เข้ากับลูก เป็นเพื่อนลูก ฝึกฝนให้ลูกได้มีโอกาสคิด ทำ กำกับความคิด อารมณ์และการกระทำของตนเอง ให้ลูกหัดตั้งเป้าหมายด้วยตนเอง จากเรื่องเล็กๆ ทีละเล็กทีละน้อย ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น คืออนาคตของเขาเอง
เด็กแต่ละช่วงวัยมีเป้าหมายการพัฒนาที่แตกต่าง การตอบสนองที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ตัวเอง นำไปสู่การตระหนักถึง “ตัวตน” ของตนเอง (Self-Awareness) และเห็นคุณค่าของตนเอง
การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ลูกถนัด ลูกชอบ ให้ลูกรักในความแตกต่างที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ส่งเสริมให้ลูกได้ฟังความรู้สึกของตนเอง ตั้งใจฟังมุมมองของลูก ให้โอกาสลูกซื่อสัตย์กับตนเอง กล้าบอกความคิดอ่านของตนเอง ไม่รีบตัดสิน หรือรีบสอน และใช้วินัยเชิงบวก “ปลอบก่อน สอนทีหลัง” รวมถึงการส่งเสริมลูกให้มีประสบการณ์หลากหลาย เพื่อเรียนรู้ว่าตนชอบอะไร เก่งเรื่องไหน จนนำเอาความสามารถออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และจนเป็นอาชีพได้
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาเด็ก ชี้ว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเราทุกคนสามารถเรียนรู้และ
เปลี่ยนบทบาทใหม่ จาก “ผู้ปกครอง” เป็น “ผู้ประคองเด็ก” ได้แน่นอน


ปรารถนา หาญเมธี เรียบเรียง

อ้างอิง ;
1) Nina Socolovich, (2020), To Build Back Better After COVID-19, We Must Support Parents, https://theconversation.com/to-build-back-better-after-covid-19-we-must-support-parents-146978, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566
2) วิริยาภรณ์ อุดมระติ (2565), การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, เอกสารวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

ปรารถนา หาญเมธี